รองโฆษกรัฐบาล แจง โมเดล BCG สู่ชุมชนทำจริงทำได้ ครม. ต่ออายุโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG อีก 6 เดือน
วันนี้ (22 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566 ทำให้โครงการมีระยะเวลารวมทั้งสิ้น 9 เดือน (จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2565) โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้ทั้งสิ้น 3,565.84 ล้านบาท ซึ่งข้อมูล ณ 10 กันยายน 2565 มีการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วจำนวน 2,701.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.76 ของงบประมาณโครงการ
โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 2) เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ 3) พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และ 4) พัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือประชาชนในพื้นที่ครอบคลุม 7,435 ตำบลทั่วประเทศ การดำเนินโครงการจะขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมหลัก อาทิ 1. กิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการด้าน BCG ของชุมชนออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนให้ได้มาตรฐานด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การทำการตลาดและขายสินค้าในรูปแบบ online/offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์ของสินค้าและบริการ 2. การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และส่งเสริมการใช้ประโยชน์และสนับสนุนการจัดทำข้อมูล TCD ให้สมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD สำหรับผลการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 64,428 คน คิดเป็นร้อยละ 94.26 จากเป้าหมาย 68,350 คน โดยแบ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 32,420 คน และประชาชน จำนวน 32,008 คน เกิดกิจกรรมในพื้นที่ รวม 15,631 โครงการทั่วประเทศ มีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 98 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในแต่ละพื้นที่ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
นางสาวรัชดา กล่าวว่า การดำเนินโครงการในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดผลลัพธ์ของโครงการในช่วง 3 เดือนแรก ได้แก่ 1) การพัฒนา ส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการ BCG ของชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน 2) การพัฒนา Platform เพื่อผลักดันผลที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของ 7,435 ตำบล สู่การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาด ผ่านช่องทางการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตำบล (U2T Market Place Platform) 3) การจัดทำ TDC และการวิเคราะห์ข้อมูล และ 4) การติดตามและประเมินผลการดำเนินการโครงการ
“การดำเนินนโยบาย BCG ของรัฐบาล เป็นไปเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ผู้ประกอบการทุกขนาด รวมถึงชุมชนระดับฐานราก โดยต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม APEC 2022 คาดการณ์ว่า จะมีการลงทุนภายใต้นโยบาย BCG ที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะต่อๆ ไปมากกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะเร่งยกระดับศักยภาพชุมชนและประชาชน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโอกาสนี้อย่างเต็มที่” นางสาวรัชดา กล่าว