รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2565 และแนวโน้ม ปี 2565-2566 โดยสภาพัฒน์ เปิด 8 ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจมหภาคไทยในปี 2566 คาดว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0
วันนี้ (22 พ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2565 และแนวโน้ม ปี 2565-2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 โดยมีรายละเอียด สรุปดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 (%YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรกและไตรมาสท่ีสองของปี 2565 ตามลำดับ และเม่ือรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 เศรษฐกิจ ไทยขยายตัวร้อยละ 3.1
- ด้านการใช้จ่าย : การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.0 เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวด ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 0.6 เป็นการลดครั้งแรกในรอบ กว่า 2 ปี โดยเป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคโควิด-19 การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 5.2 เป็นผลจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.0 การลงทุนภาครัฐลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 7.3 ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวร้อยละ 1.1
- ด้านภาคต่างประเทศ : การส่งออก มีมูลค่ารวม 71,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.7 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ รถกระบะและรถบรรทุก แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 71,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 23.2 ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อม สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการไฟฟ้าและก๊าซ ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนสาขาการก่อสร้างและเกษตรกรรมปรับตัวลดลง โดยสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่สำคัญ จากปัญหาอุทกภัยและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่ สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.3 สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 53.6 นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 3.608 ล้านคน จากการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศและสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งทางอากาศบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง เป็นสำคัญ
- เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ : อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.23 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.3 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 7.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 25.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและหนี้สาธารณะ ณ เดือนกันยายน 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,373,937.59 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 60.7 ของ GDP
2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 3.6 ของ GDP
3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจาก (1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (2) การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และ (4) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังเสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับ
(1) การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(2) การดูแลการผลิตภาคการเกษตรและรายได้การเกษตร โดยฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูการเพาะปลูก 2566/2567
(3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า เช่น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและสร้างตลาดใหม่ ติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก พัฒนาพัฒนาสินค้าเกษตรอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมให้ได้มีคุณภาพและมาตรฐาน ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากการผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน
(4) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ-ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน-จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
(5) การส่งเสริมกันลงทุนภาคเอกชน โดย-ดูแลสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ-เร่งรัดผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติ BOI ให้เกิดการลงทุนจริง-การแก้ปัญหาให้นักลงทุน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต-ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก และการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย -ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC และเขตพิเศษต่างๆ -ขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และ พัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง
(6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ
(7) การติดตามเฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจของการเงินโลก และ (8) การติดตามเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 เชื้ออื่นด้วย