“เพื่อไทย” เปิดเพิ่มว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. 9 เขต รับทาบ “อ๋อม-สกาวใจ” รอเจ้าตัวตัดสินใจ “ชลน่าน” ไม่สน “บิ๊กตู่” เตรียมเข้าคอก “รวมไทยสร้างชาติ” เชื่อ แยกกันเดินหวังสืบทอดอำนาจ โวไม่กระทบแลนด์สไลด์ จับตาศาลวินิจฉัยกฎหมายลูก 30 พ.ย. หวั่นออกทางร้าย เกิดอุบัติเหตุซ้ำ ขู่ไร้ กม.ลูกเลือกตั้งเกิดวิกฤตแน่
วันนี้ (22 พ.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ หัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และ เลขาธิการพรรค, นางพวงเพ็ชร ชุณละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่ กทม. พรรคเพื่อไทย, นายวราวุธ ยันต์เจริญ กลุ่มงานบริหารพื้นที่ กทม. ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ กทม.เพิ่มเติมจำนวน 9 เขต
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย มีความภาคภูมิใจเปิดตัวผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม จำนวน 9 คน หากรวมกับการเปิดตัวครั้งก่อนรวมเป็น 24 คน ทั้งหมดได้ผ่านกระบวนการสรรหา และคัดเลือกโดยกรรมการโซน กทม.และคณะกรรมการประสานงานพื้นที่ กทม.ก่อนเข้าสู่คณะกรรมการส่วนกลางของพรรค พื้นที่ กทม.มีผู้แสดงเจตจำนงเข้ามาเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมีความเข้าใจปัญหา และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี
“เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย คือ เพื่อไทย จะนำพาประเทศออกจากวิกฤต ซึ่งพรคคเพื่อไทยเรามีความพร้อม” นพ.ชลน่าน กล่าว
จากนั้น นายประเสริฐ กล่าวแนะนำว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม 9 คน ประกอบด้วย 1. นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ เขตทวีวัฒนา หนองแขม, 2. น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล เขตราชเทวี ดุสิต, 3.น.ส.เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เขตยานนาวา บางคอแหลม, 4. นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล เขตบางพลัด บางกอกน้อย, 5.นพ.ญาณกิตต์ ห่วงทรัพย์ เขตจตุจักร, 6.นายกิตติพล รวยฟูพันธ์ เขตราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ, 7.นายณณัฏฐ์ หงส์ชูเวช เขตลาดพร้าว วังทองหลาง, 8.น.ส.พิชชาภัสร์ อมาตย์วรานนท์ เขตบางขุนเทียน และ 9.นายนวธันย์ ธวัชวงศ์เดชากล เขตคลองเตย วัฒนา
ด้าน นางพวงเพ็ชร กล่าวเสริมว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า กทม.มีทั้งหมด 33 เขต คาดหวังจะได้ ส.ส.มากที่สุด เรามีนโยบายที่กลั่นกรองมาจากประชาชน เคยทำสำเร็จมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน มาถึงเพื่อไทย ส่วนกรณี น.ส.สกาวใจ พูนสวัสดิ์ หรือ อ๋อม ดารานักแสดงชื่อดัง ที่มีกระแสข่าวว่า ได้รับการทาบทามให้ลงสมัคร ส.ส.กทม. ในนามพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องเรียนว่า น.ส.สกาวใจ เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ มีความชัดเจนในจุดยืนทางประชาธิปไตย รวมทั้งรู้จัก และสนิทกับสมาชิกในพรรคหลายคน จึงได้มีการทาบทามไปตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้
“ถึงตอนนี้คุณอ๋อมยังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ซึ่งเราก็เคารพการตัดสินใจ” นางพวงเพ็ชร ระบุ
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย จะดึง ส.ส.พรรคอื่นมาร่วมงานอีกหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราไม่มีนโยบายดึงหรือดูด ส.ส. เราเป็นพรรคมีอุดมการณ์ทำงาน เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย มุ่งมั่นแก้ปัญหาให้ประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สิทธิเสรีภาพ ถ้ามีส.ส.คนไหนจะมาร่วมงาน ถือเป็นโอกาสของพรรค อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร ที่ผ่านมา ไม่มี ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น ติดต่อมายังตน แต่อาจจะติดต่อผ่านมาทางกรรมการบริหาร หรือกรรมการคัดสรรผู้สมัครคนอื่นมา ส่วนเขตเลือกตั้งดินแดง ห้วยขวาง และ สายไหม ที่ถามว่า จะมีการคัดสรรผู้สมัครคนเดิมหรือคนใหม่นั้น ต้องบอกว่า เป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง ขณะนี้ยังมีระยะเวลาให้ได้พูดคุยกัน
ถามอีกว่า กระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อาจจะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ทางพรรคเพื่อไทยต้องปรับกลยุทธ์อะไรหรือไม่ จะกระทบต่อเป้าหมายแลนด์สไลด์ของพรรคหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ การตัดสินใจแบบนี้ มองว่า เขาคงต้องการสืบทอดอำนาจ หากอยู่พรรคเดิมอาจมีปัญหาหรืออุปสรรค ดังนั้น จึงต้องแยกกันทำงานเพื่อความอยู่รอด ถ้าแต่ละพรรคมีที่นั่งมากค่อยมารวมกัน อาจเป็นกลไกหนึ่งในการสืบทอดอำนาจที่คิดไว้ ส่วนจะกระทบกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น เราได้คำนึงถึงคู่แข่ง แต่ก็ขอทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้มากที่สุด ไม่ว่าคู่แข่งจะแข็งอย่างไร ถ้าเราเข้าถึงประชาชน และเชื่อว่าประชาชนต้องการ ส.ส.ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาให้เขาได้ ยังมั่นใจเราจะเข้าสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์ของเราได้
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเตรียมวินิจฉัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 30 พ.ย.ว่า ผลการวินิจฉัยของศาลนั้น หากศาลวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นเข้าสู่กลไกลปกติ นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าออกมาในแง่ร้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้ก็ตกไป ก็จบ ไม่มีกฎหมายมาใช้ในการเลือกตั้ง แต่สภายังมีเวลา เพราะวาระสภาหมดวันที่ 28 ก.พ. 2566 ถ้าทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ ก็นำกฎหมายมาปรับแก้ แล้วพิจารณาในสภาในวาระที่เหลือ ก็น่าจะทัน แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุการเมืองไปเลย ต้องดูว่า เขามีเจตนาต้องการที่จะให้มีการเลือกตั้งหรือไม่มีการเลือกตั้ง กรณีเกิดการยุบสภา ต้องมีการจัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน ระหว่างนี้ต้องหากฎหมายมาใช้ในการเลือกตั้งให้ได้ เว้นแต่ไม่อาจหากฎหมายมาใช้ในการเลือกตั้งได้ ก็รักษาการยาวไป อย่างนี้น่าจะเกิดวิกฤตแน่