xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลหนุนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ช่วยขยายโอกาส และสร้างข้อได้เปรียบให้สมาชิกเอเปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย ไทยส่งเสริมเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ช่วยขยายโอกาส และสร้างข้อได้เปรียบให้สมาชิกเอเปค ระบุผู้ที่ได้ประโยชน์คือประชาชนทุกคนในภูมิภาค

วันนี้ (21 พ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมประเด็นเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (The Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP)

ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุม “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ไทยมุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างสู่โอกาส เชื่อมโยงภูมิภาคอีกครั้งในทุกมิติ และนำพาเอเปคไปสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม ในโอกาสนี้ ไทยผลักดันให้ทบทวนการหารือเรื่อง FTAAP และผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเอเปคได้จัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อสานต่อการหารือเรื่อง FTAAP ในบริบทของโลกยุคหลังโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอเปกถือเป็นตลาดที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ มีประชากรรวมกันกว่า 2,900 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันกว่า 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 62 ของ GDP โลก โดยในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปก มีมูลค่ารวม 12.2 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 68.8 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย ซึ่งหากการเจรจา FTAAP บรรลุผลจะทำให้เอเปคเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่มาก ช่วยขยายโอกาสและสร้างข้อได้เปรียบให้กับสินค้าจากสมาชิกเอเปค รวมถึงไทย ให้สามารถส่งออกไปตลาดที่เป็นคู่ค้าได้หลากหลายมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกเอเปกที่ยังไม่มีเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน อาทิ ไทยกับสหรัฐอเมริกา หรือ ไทยกับเม็กซิโก หากจัดตั้ง FTAAP สำเร็จก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับคู่ค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น มีเครือข่ายและแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายที่จะสนับสนุนการลดต้นทุน สามารถช่วยอํานวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีกฎระเบียบมาตรการทางการค้า และพิธีการทางศุลกากรที่สอดคล้องกัน ช่วยลดความยุ่งยากและซับซ้อน

“การรื้อฟื้นการหารือแนวคิดความตกลง FTAAP ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไทยได้มุ่งผลักดันในการประชุมเอเปก 2022 ที่ผ่านมา ภายใต้ FTAAP ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าในระดับภูมิภาคที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุม ซึ่งหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมครั้งนี้คือ แผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อสานต่อการหารือเรื่อง FTAAP ในบริบทของโลกยุคหลังโควิด-19 ซึ่งตอบสนองต่อคำมั่นสัญญาของผู้นำในวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 และแผนปฏิบัติการ Aotearoa เพื่อเดินหน้างานตามวาระ FTAAP เพื่อเปิดโอกาสการค้าการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถของเขตเศรษฐกิจในประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ และลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างกัน ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คือประชาชนทุกคนในภูมิภาค” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น