สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย บุกทำเนียบ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง “วิษณุ” ไม่เห็นด้วยที่จะให้กัญชาไปอยู่ใต้พ.ร.บ.ยาเสพติด และไม่อยู่ในอำนาจ คกก.ปปส.จะต้องนำมาพิจารณาอีก พร้อมชี้แจงข้อห่วงใยชัด ต้องซัดกันด้วยความรู้และความจริง ไม่มโน
วันนี้ (21 พ.ย.) สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย นำโดย รศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยฯ พล.อ.ต.นพ.ไกรสร วรดิถี ดร.เพียงฤทัย วรดิถี พญ.เพียงไพลิน วรดิถี และ นพ.กัญจนิน ภัทโรพงศ์ พร้อมด้วย รายชื่อผู้สนับสนุนอีกกว่า 5,000 ชื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อขอให้คงไว้ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษ พร้อมทั้งส่งตารางเปรียบเทียบ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รวมถึง คำชี้แจง ต่อบทความวิชาการ เรื่อง ชำแหละสถานการณ์นโยบายกัญชาของประเทศไทย หลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดให้กัญชาเป็นพืชควบคุม (ฉบับที่สอง)
ลงนามวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และ คำชี้แจงจดหมายเปิดผนึก ฉบับวันที่ 6 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งกลุ่มแพทย์ ได้ยื่นมาถึงนายวิษณุ จนเป็นที่มาของการประชุมการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งมี นายวิษณุ เป็นประธาน
โดย ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงเนื้อหาของจดหมายว่า ตามที่สังคมมีความคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในประเด็นเรื่องการปลดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษนั้น เครือข่ายนักวิจัยได้ติดตามข้อมูลข่าวสารมาอย่างต่อเนื่อง และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ถูกต้อง ตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
“ดังนั้น ปัจจุบันกัญชาจึงไม่อยู่ในรายการยาเสพติดอีกต่อไป และไม่อยู่ในอำนาจของคณะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่จะนำมาพิจารณาอีก เพราะก่อนหน้านี้ คณะกรรมการได้มีมติรับรองประกาศของกระทรวงสาธารณสุขไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นายกสมาคมนักวิจัยฯ กล่าว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของกัญชาในสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่หลากหลาย มีทั้งข้อเท็จจริง ความห่วงใย (กับสิ่งที่ยังไม่เกิด) และข้อมูลจากงานวิจัย (ที่มาจากต่างประเทศ) ปะปนกัน จนทำให้สังคมเกิดความสับสน ซึ่งนับเป็นสภาวะที่อันตรายอย่างยิ่ง หากรัฐบาลปล่อยให้เกิดสภาวะเช่นนี้กับสังคมจะเป็นบรรทัดฐานกับกรณีอื่นๆ ขัดกับสิ่งที่ภาครัฐบาลคาดหวังให้ “สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา” อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาล ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดนโยบายหนึ่ง ดังนั้น เครือข่ายนักวิจัยจึงอยากขอให้รัฐบาลเร่งรัดการออกพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…..ออกมาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาวาระ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และร่างนี้ก็มีกรรมาธิการถึง 25 คน มาจากพรรคการเมือง นักวิชาการและข้าราชการ และในระหว่างที่รอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรรอบใหม่ ทางเครือข่ายขอสนับสนุนให้มีบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ที่มีการปรับแก้จากฉบับที่ประกาศเมื่อ 16 มิถุนายน 2565 ตามข้อห่วงใยของเครือข่ายนักวิชาการ
“ทางเครือข่ายได้ทำเป็นตารางเปรียบเทียบออกมาให้เข้าใจง่าย จึงขอให้ นายวิษณุ ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้โปรดพิจารณาเอกสารอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็จะเห็นว่า ในประกาศกระทรวงฉบับนี้ได้แก้ไขประเด็นที่ข้อห่วงใยของสังคม โดยเฉพาะการเข้าถึงของเยาวชน ซึ่งนอกจากประกาศดังกล่าวก็ทราบมาว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการออกระเบียบข้อบังคับ และดำเนินการเฝ้าระวังการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งก็สามารถควบคุมได้ดีระดับหนึ่ง หากจะดีกว่านี้ก็ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการออกพระราชบัญญัติมาโดยเร็ว จึงขอโปรดพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านยาของประชาชนและประเทศ” นายกสมาคมนักวิจัยฯ กล่าว