นายกฯ หารือ นายกฯออสเตรเลีย แบบพบหน้าเป็นครั้งแรก ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมขยายความร่วมมือให้แน่นแฟ้นครอบคลุม รวมทั้งพร้อมร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (19 พ.ย.) เวลา 08.00 น. ณ ห้อง 111 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบหารือกับ นายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้หารือแบบพบหน้า หลังจากที่ได้หารือทางโทรศัพท์กันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปีนี้เป็นปีที่ไทยและออสเตรเลียได้ร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 70 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและพิเศษจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ และทรงศึกษาในออสเตรเลียอยู่เป็นระยะเวลานานหลายปี ซึ่งรวมถึงความร่วมมือระหว่างกัน ที่มีพลวัตสูง ครอบคลุม ทุกมิติและเป็นรูปธรรม อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้เดินทางเยือนไทยที่มีการต้อนรับอย่างดี ประทับใจที่เมื่อคืนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเคยมีโอกาสได้มาเที่ยวในตอนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ยืนยันความสำคัญที่ออสเตรเลียมีให้อาเซียน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แต่งตั้งผู้แทนพิเศษสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประสบการณ์สูงในภาคธุรกิจ เชื่อมั่นว่า จะช่วยกระชับความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจ และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับออสเตรเลียด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทย ว่า ความร่วมมือในเอเปกผ่านเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่ไทยผลักดัน ทำให้ความร่วมมือเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องกับ การค้า การลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล สาขาความร่วมมือที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG
นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) และยินดีที่รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และกรอบ ACMECS
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายร่วมหารือในส่วนของความท้าทายสำคัญในโลกซึ่งทำให้ทุกประเทศในโลกต้องร่วมมือกัน นายกรัฐมนตรีไทย หยิบยกคำกล่าว “the world is getting smaller” ซึ่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียจึงได้กล่าวว่า จึงทำให้โลกต้องมีทางออกระหว่างประเทศร่วมกัน International Solutions ซึ่งจะต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศ International Cooperation
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ชื่นชมวิสัยทัศน์และนโยบายของไทยที่มีส่วนคล้ายนโยบายของออสเตรเลีย โดยเฉพาะในส่วนของการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรีได้ ชื่นชมที่ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น จึงน่าจะกระชับความร่วมมือระหว่างกันมากยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะในสาขาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปล่อยมลพิษต่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และนิเวศบลูคาร์บอน ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีชื่นชมการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม UNFCCC COP 31 ของออสเตรเลีย ในปี 2569 (ค.ศ. 2026)