xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ จี้ดัน กม.ปฏิรูปเข้ารัฐสภาก่อนสิ้นปีหลังล่าช้า “เสรี” อัดนักการเมืองห่วงอำนาจ-หนุนแก้ รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ว.จี้ให้เร่งเครื่อง กม.ปฏิรูป ชงเข้ารัฐสภาก่อนสิ้นปี 65 หลังสภาพัฒน์ แจงพบงานล่าช้า “เสรี” ชี้ งานปฏิรูปด้านการเมือง การมีส่วนร่วมของ ปชช.ไม่คืบ พบ ส.ส.พยายามแก้กติกาเลือกตั้งขั้นต้น ซัดนักการเมืองหวงอำนาจ-หนุนแก้ รธน.

วันนี้ (7 พ.ย.) ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 15 ระหว่างเดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2565 และรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานผลว่า กิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญ มี 62 กิจกรรม ในแผนปฏิรูป 13 ด้าน พบว่า กิจกรรมที่เป็นไปตามแผน 55 กิจกรรม และล่าช้ากว่าแผน 7 กิจกรรม อาทิ การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์, การส่งเสริมพัฒนาพรรคการเมือง, ทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ, การพัฒนาระบบราชการไทยให้โป่งใสไร้ผลประโยชน์, การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ความคืบหน้าการเสนอกฎหมายปฏิรูป 45 ฉบับ พบว่า ทำแล้วเสร็จ 4 ฉบับ ส่วนอีก 41 ฉบับอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นที่หน่วยงานของรัฐจัดทำร่างกฎหมาย

ขณะที่ พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสวรรค์ รองประธาน ตสร. นำเสนอรายงานการติดตามว่า กมธ.กังวลผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 และการดำเนินการภายหลังที่แผนปฏิรูปสิ้นสุดตามความเห็นของกรรมการปฏิรูปและรัฐบาล ที่ให้เชื่อมโยงการปฏิรูปไปยังแผนปฏิบัติงานของหน่วยราชการ เนื่องจาก ตสร. จะไม่ทราบถึงภารกิจของหน่วยงานที่เป็นแผนต่อจากการปฏิรูปและทำหน้าที่ติดตาม เร่งรัดงานปฏิรูป ของวุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดดำเนินการไม่ได้ และส่อขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 185(1) ทั้งนี้ ตามแผนการปฏิรูป พบโครงการ กิจกรรมปฏิรูปรวม 490 กิจกรรม จากกิจกรรมที่มีทั้งสิ้น 1,822 โครงการ พบว่า แล้วเสร็จ42 โครงการ คืบหน้าตามแผน 359 โครงการ และล่าช้า 88 โครงการ ถือว่ามีโอกาสบรรลุตามวัตถุประสงค์ระดับปานกลาง

“สำหรับการพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ รวม 71 ฉบับ พบว่าประกาศแล้ว 8 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการ 47 ฉบับ และ ล่าช้า 16 ฉบับ วุฒิสภาขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันหน่วยงานที่ทำกฎหมายให้ทำกฎหมายและเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาอย่างเร่งด่วนภายในปี 2565” พล.อ.ชูศักดิ์ อภิปราย

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในวาระพิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 15 ระหว่างเดือนมกราคม- มีนาคม 2565 ว่า การพัฒนาด้านการเมือง พบว่าพรรคการเมืองยังไม่พัฒนา โดยเฉพาะการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต่อการเลือกตั้งขั้นต้น เพราะพบว่าสภาเสนอกฎหมายแก้ไข ทำให้กระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นไม่สามารถเป็นไปตามเจตนารมณ์พัฒนาการเมือง ปฏิรูปการเมืองได้ เพราะนักการเมืองไม่ยอมให้อำนาจประชาชน และพยายามรวบอำนาจ เพื่อให้คนของตนเองลงเลือกตั้ง ส่วนร่างกฎหมายเมื่อเข้าสู่ชั้น ส.ว. กลับพบว่าได้รับการยินยอม จากวุฒิสภา ทั้งนี้กรณีดังกล่าวมี ส.ว.อีกชุด ทำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วต้องติดตามกันต่อไป

นายเสรี กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ใกล้ครบ5 ปี จึงควรทบทวน หรือยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เป็นทางออก ที่ทำให้บ้านเมืองสงบ หากติกาที่ได้รับการเป็นที่ยอมรับ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ขณะที่ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายในวาระเดียวกันต่อการปฏิรูปด้านการเมือง ว่า จากการติดตามศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบ เพื่อให้ความรู้ด้านการเมือง การปกครองระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชน พบปัญหาสำคัญ คือ การเลือกตั้งทุกระดับไม่สุจริตเที่ยงธรรม การเลือกตั้งพบการซื้อเสียง ทำผิดไม่กลัวความเสียหาย ด้านนโยบายพรรคการเมืองไม่คำนึงถึงผลกระทบและควาเสียหายตามที่ประกาศตอนหาเสียง ทั้งที่กฎหมายกำหนดกลไกให้พรรคการเมืองรับผิดชอบต่อการหาเสียงไม่เกิดจริงและเมื่อเป็นรัฐบาลไม่ได้นำนโยบายมาปฏิบัติทำให้กิดความเสียหาย

“กกต. มี กกต.จังหวัดไม่สามารถส่งเสริศูนย์ส่งเสริมฯ ให้เรียบร้อย และมีประสิทธิภาพต่อการให้ความรู้ประชาชนและการตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ทั้งนี้ กกต. ได้ทำบันทึกความตกลงความร่วมมือ 6 หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้ชุมชน อสม. ขับเคลื่อน แต่พบข้อมูลจากการลงพื้นที่ 20 จังหวัด พบว่า ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่รู้ว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด แม้จะมีบันทึกความร่วมมือแต่หน่วงานในท้องถิ่นไม่เคยเห็นบันทึกความร่วมมือดังกล่าว อีกทั้งกรรมการจังหวัดไม่รับทราบ อีกทั้งบุคลากรของหน่วยงานที่ทำบันทึกข้อตกลงกับ กกต. ไม่ให้ความสนใจ ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง ไม่ดูแล” นายเฉลิมชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น