กมธ.การเงินฯ ช็อกวัยรุ่นติดบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งกระฉูด “พิสิฐ” แฉพ่อค้ารายใหญ่แฝงตัวในรัฐสภา-กมธ. วอนคลังอย่าตกเป็นเบี้ยล่างให้คนล็อบบี้ ยันมีสารอันตรายต่อร่างกาย “หมอประกิต” ตอกแรง รัฐอย่าสิ้นปัญญาหารายได้จากบุหรี่ไฟฟ้า แต่ทำร้ายสุขภาพคนไทยทั้งชาติ
วันนี้ (3 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน คนที่สอง สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม กมธ. ที่ได้มีการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่และยาสูบใหม่ ผลกระทบต่อรายได้ของรัฐและการลดผู้สูบบุหรี่ ยาสูบ และบุหรี่ไฟฟ้าของคนไทย
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า วันนี้เราได้ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายที่รณรงค์และดูแลเรื่องบุหรี่ในประเทศไทย ประกอบไปด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง (กค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้เห็นข้อมูลที่น่าตกใจ คือ ประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ของเยาวชน อายุระหว่าง 15-19 ปี ซึ่งมีตัวอย่างจากประเทศอเมริกา นักเรียนในระดับชั้นมัธยมจำนวน 20% ติดบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ ไทยยังไม่ได้ยอมรับมาตรา 15 ของพิธีสารเกี่ยวกับการรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ แต่ทาง สธ.ได้ชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาได้มีมติเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ที่กระทรวงการคลัง และกำลังขอให้กระทรวงการคลังดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อที่ประเทศไทยจะได้เป็นภาคีที่ลงนามในพิธีสารมาตรา 15 ขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ที่จะทำให้การรณรงค์การไม่สูบบุหรี่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
นายพิสิฐ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ สสส. เป็นองค์กรหลักที่ดำเนินการมาต่อเนื่องกว่า 21 ปี และได้รับประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยลดการสูบบุหรี่ประมาณ 10 ล้านคน ทำให้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ลดลง ทั้งนี้ สธ.ยังกล่าวถึงความเสียหายจากโรค และการขาดรายได้ เนื่องจากต้องเข้ารักษาพยาบาลจากการป่วยเพราะสูบบุหรี่ ซึ่งมีมูลค่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับกรมสรรพสามิตเก็บที่ภาษีบุหรี่ได้ปีละ 6 หมื่นล้านเหรียญ เมื่อนำมารวมกับตัวเลขจากการสูญเสียรายได้อื่นๆ จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ปัจจุบันผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ในต่างประเทศได้แฝงเข้ามาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงในรัฐสภาและ กมธ.ด้วย ซึ่งใน กมธ.ได้มีข้อเสนอให้เปิดขายบุหรี่ไฟฟ้าเสรี ส่วนกรมสรรพสามิตก็เสนอหาวิธีเก็บภาษี เพื่อทำให้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“ไม่อยากให้ กค.ตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ที่มาล็อบบี้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ ต้องคำนึงถึงชีวิตของผู้คนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะบุหรี่ ส่วนข้ออ้างที่ว่า เมื่อมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะลดการสูบบุหรี่ลง หมอทั้ง 3 ท่านที่มาชี้แจงวันนี้ยืนยันแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องจริง ส่วนเรื่องที่ว่าจะขายบุหรี่ฟ้าเสรีได้ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเช่นเดียวกัน เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีสารที่ไม่ได้มาจากใบยาสูบ เป็นสารสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดบุหรี่แล้วมีโอกาสเลิกยากมาก ทางที่ดีควรป้องกันก่อนสูบจนติดจะดีกว่า” นายพิสิฐ กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ได้ระบาดเฉพาะในประเทศไทย สัปดาห์ที่แล้วองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้ประชุมร่วมกัน ปรากฏว่า ทุกประเทศเจอปัญหาแบบเดียวกัน คือ การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เพราะนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเป็นตัวเดียวกัน ขณะนี้เริ่มมีงานวิจัยว่า บุหรี่ไฟฟ้าเลิกยากกว่าบุหรี่ธรรมดา จากการที่ไม่มีกลิ่นเหม็นและความเข้าใจว่าอันตรายน้อยกว่า แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด
นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า วัยรุ่นในอเมริกาคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามี 20% สูบบุหรี่ธรรมดา 5% แต่ใน 85% นั้นสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการเติมกลิ่น เติมรส มีเพียง 15% ที่สูบแบบไม่มีกลิ่น แม้ในอเมริกาพยายามออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการเติมกลิ่น เติมรส แต่ยังไม่สำเร็จ หากเราเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้าวันนี้ ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการให้เติมกลิ่นและรส เพราะลูกค้าเป็นวัยรุ่นทั้งนั้น ซึ่งหากเปิดให้ขายชนิดที่ไม่มีกลิ่น บุหรี่ไฟฟ้าก็มีการให้เติมกลิ่นและรสก็จะอยู่ในตลาดมืด ตรงนี้อยากให้มีความชัดเจน แต่หากจะเปิดให้มีการขายเสรี เพื่อที่จะมีการเพิ่มภาษีเราก็ต้องตอบลูกหลานให้ได้ว่าเราสิ้นปัญญาหรือถึงเปิดให้ขายในสิ่งที่จะทำให้เขาเสพติดไปตลอดชีวิต เพื่อหาเงินจากวัยรุ่น แต่สิ่งที่เราควรรีบทำคือต้องรีบให้ความรู้ให้แก่เยาวชนให้มากที่สุด
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิต จากโรค NCDs เพิ่มขึ้น และ 3 ใน 4 ของการสูญเสียมากจากบุหรี่ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ ดังนั้น สสส.จะร่วมควบคุมป้องกันให้คนไม่สูบบุหรี่ทุกรูปแบบ ขณะนี้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้ความสำคัญพิเศษ คือ เด็กและเยาวชน สำหรับการทำงานที่ผ่านมามีการสร้างองค์ความรู้ รวมทั้งนโยบายผลักดันกฎหมายต่างๆ และการสื่อสารสังคม ทำให้ปัจจุบันตัวเลขของผู้สูบบุหรี่ลดลง ส่วนรูปแบบการทำงานของไทยขณะนี้ถือเป็นบทเรียนต้นแบบ ที่ 7 ประเทศทั่วโลก ได้นำไปใช้ อย่างไรก็ตาม สสส.ยืนหยัดว่าจะทำงานตามหลักวิชาการที่รับรองโดย WHO ภายใต้กลไกของประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนรับทราบข้อมูลพิษภัยจากการสูบบุหรี่และมาตรการที่ต้องร่วมรณรงค์และผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ตลอดไป