เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้เครือข่ายแพทย์ กรณีอ้างรายงานการศึกษาบุหรี่ไฟฟ้ามีจุดอ่อน ชี้ กมธ.พาณิชย์ฯ รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ทั้งสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ระบุมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลว ไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริง ทำประเทศเสียประโยชน์ แนะแก้ไขให้เหมาะสม พร้อมเร่งศึกษางานวิจัยผลกระทบระยะยาว โดยคำนึงถึงสัดส่วนผลกระทบด้านสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ
จากกรณีเครือข่ายแพทย์ด้านยาสูบได้ออกมาวิจารณ์รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จัดทำโดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา (กมธ. พาณิชย์ฯ) สภาผู้แทนราษฎร ว่ามีจุดอ่อน ขาดความน่าเชื่อถือนั้น นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่ม “ลาขาดควันยาสูบ” ตอบโต้ว่า “รายงานฉบับนี้รับฟังความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังมีฝ่ายที่คัดค้านบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปนั่งเป็นอนุกรรมาธิการถึง 4 คน มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างครบถ้วนรอบด้าน เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรค อย. หมอผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ด้านจิตเวช กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กระทรวงดีอีเอส ตำรวจ ปคบ. และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย เพราะเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยที่พวกเราไม่เคยมีความเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากบริษัทบุหรี่เลย ทำให้รายงานฉบับนี้มีข้อสรุปที่ครบถ้วน ต่างจากข้อเสนออื่นๆ ก่อนหน้านี้ของทางกลุ่มแพทย์ที่สรุปให้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพราะยกเอาแต่งานวิจัยเกี่ยวกับความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามาพูด โดยไม่มองมุมอื่น”
“รายงานสรุปว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามีปัญหาจริง เป็นมาตรการที่ไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงและล้มเหลว เพราะแบนแล้วก็ยังมีผู้ใช้ในประเทศจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาอันตรายของการสูบบุหรี่แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมาด้วย เช่น ธุรกิจใต้ดินที่กลายเป็นช่องทางให้เด็กซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน จับกุมรีดไถผู้ใช้ เช่นกรณีล่าสุดที่หาดใหญ่มีการเรียกรับสินบนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจนกลายเป็นข่าวใหญ่ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายที่ไม่ชัดเจนทำให้ประชาชนเดือดร้อนและเป็นบ่อเกิดของการทุจริต” นายอาสาอธิบายเพิ่ม
ด้านนายมาริษ กรัณยวัฒน์ แกนนำกลุ่ม “ลาขาดควันยาสูบ” อีกรายที่เป็นตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเสริมว่า “แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะศึกษาโดย กมธ.พาณิชย์ฯ แต่ก็ไม่ได้ละเลยประเด็นสุขภาพและสังคม เพราะมีการระบุในรายงานว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกจัดเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าและใช้ทดแทนการสูบบุหรี่อย่างได้ผล พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยถึงข้อดีของบุหรี่ไฟฟ้าในกรณีผู้ที่มีความต้องการสูบบุหรี่มวนในอัตราสูงสามารถใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกเพื่อการลดจำนวนการสูบและลดอันตรายจากบุหรี่ซิกาแรต (บุหรี่มวน) (Harm Reduction) รวมทั้งการศึกษาวิจัยถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าทางด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงในทางวิชาการต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับรายงานฉบับล่าสุดของรัฐบาลอังกฤษที่ย้ำว่าในระยะสั้นและระยะกลางการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายเพียงเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่”
“เครือข่ายแพทย์อ้างว่าเด็กอายุ 15 ปีในอังกฤษใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย แต่สำนักงานเพื่อการพัฒนาสุขภาพและลดความเหลื่อมล้ำ หรือ The Office of Health Improvement and Disparities (OHID) ของรัฐบาลอังกฤษเพิ่งออกรายงานฉบับล่าสุด ยืนยันยังคงสนับสนุนกฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยที่จะไม่แบน นอกจากนี้ OHID และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอื่น รวมทั้ง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของสหราชอาณาจักร ASH-UK ยังคงเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ที่มีการเผาไหม้”
ในรายงาน กมธ.พาณิชย์ฯ ยังมีคำแนะนำไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานอย่างเหมาะสม และแนะนำให้บูรณาการการดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามในระหว่างที่ยังมิได้มีการพิจารณาอนุญาตการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายอีกด้วย ที่สำคัญ ทั้งในข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของรายงานฉบับนี้ไม่มีการเสนอให้คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป
“กมธ.นี้พิจารณาถึงสิทธิและการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้มีทางเลือกในการลดอันตรายจากควันบุหรี่ แต่ผลที่ออกมาคงไม่ถูกใจกลุ่มที่คัดค้านจึงมาออกข่าวโจมตีรายงานของ กมธ. เราจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ส.ส. พรรคการเมืองทุกพรรค หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอีเอส โดย รมว.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ออกมาคัดค้านการแบนก่อนหน้านี้ ได้พิจารณารายงานของ กมธ.พาณิชย์เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้า โดยคุ้มครองเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่ แต่ไม่ตัดสิทธิของคนไทยอีกเกือบ 10 ล้านคนที่ยังจะสูบบุหรี่ต่อไปให้สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างประเทศอื่นๆ กว่า 70 ประเทศทั่วโลกภายใต้การควบคุมที่เหมาะสมมากกว่าการแบน”