“นิพนธ์” ซัด “นิพิฏฐ์” บิดเบือนข้อมูล หวังใช้ทุกโอกาส สร้างความเสียหาย ทำร้ายบ้านเกิด พร้อมแจงยิบปมขายที่ดินให้ต่างชาติ
วันนี้ (3 พ.ย.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย พาดพิงถึงตนในเรื่องที่เกี่ยวกับการขายที่ดินให้ต่างชาติ ว่า รู้สึกแปลกใจในท่าทีของนายนิพิฏฐ์ ที่จะใช้ทุกโอกาสเพื่อทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่เห็นดีเห็นงามกับเจ้าของพรรคที่นายนิพิฏฐ์สังกัด ไปตำหนิ ส.ส. และ พรรค ปชป. ที่ภูเก็ต จนลามมาถึงเรื่องปัจจุบัน
สำหรับข้อเท็จจริงในเรื่องการขายที่ดินให้ต่างชาตินั้น ตนจำเป็นต้องขอชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นรายประเด็น ดังนี้
1. ความเป็นมาเรื่องนี้เริ่มจากเมื่อปี 2542 มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน โดยเพิ่มมาตรา 96 ทวิ ขึ้นใหม่ โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ หากนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากในปี 2540 ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้ต้องการเงินตราต่างประเทศ
2. ต่อมาปี 2545 ครม.เห็นชอบกฎกระทรวงออกตามความใน ม.96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน วางแนวปฏิบัติกรณีคนต่างด้าวนำเงินมาลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไป จะขอซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี
3. ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน มีคนต่างด้าวใช้สิทธิตามกฎกระทรวงฉบับปี 2545 ไป 11 ราย ปัจจุบันขายต่อไปแล้ว 1 ราย และอีก 1 ราย ได้แปลงสัญชาติเป็นไทยไปแล้ว จึงคงเหลือ 8 ราย
4. ในปี 2563 ประเทศเกิดวิกฤตโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ต่อมาในปี 2564 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดไว้ดังนี้
4.1 กำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) : มอบกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้วีซ่าเป็นพิเศษแก่คนต่างด้าว 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง / ผู้เกษียณอายุ / ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย / ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
4.2 ให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ : มอบหมายให้กรมที่ดินศึกษาในรายละเอียดแล้วนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณา
4.3 ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี : มอบหมายกรมสรรพากรเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือวีซ่า LTR
4.4 การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร : มอบหมายกรมศุลกากร อำนวยความสะดวกการเดินทางพิเศษสำหรับผู้ถือวีซ่าประเภท LTR เป็นการเฉพาะ เทียบเคียงกับสถานะการเดินทางทางการทูต
4.5 จัดตั้งศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR-Service center) : มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นหน่วยงานหลัก
5. ในปี 2565 กรมที่ดินเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่มีหลักการคล้ายกับกฎกระทรวงปี 2545 เดิม ที่ให้ต่างด้าวเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับ LTR Visa เท่านั้น ที่นำเงินมาลงทุน 40 ล้านบาท สามารถซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องดำรงการลงทุนนั้นไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี (ลดระยะเวลาการดำรงการลงทุนจาก 5 ปี เหลือเพียง 3 ปี แต่ยังคงเป็นระยะเวลาภายในกรอบของ มาตรา 96 ทวิ ป.ที่ดิน) เพราะของเดิมไม่ดึงดูดคนมาลงทุน ซึ่ง ครม. เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เมื่ออังคารที่ผ่านมา
6. ต่อจากนี้ กรมที่ดินจะได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามกฎกระทรวงที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 (ซึ่งมีผลใช้บังคับใช้ตั้งแต่ 8 ต.ค. 2565) ที่ออกตาม พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เสียก่อน จึงจะดำเนินการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
“นายนิพิฏฐ์ เปลี่ยนไปเยอะจากที่เคยรู้จัก นึกไม่ถึงว่าจะกล้าบิดเบือนข้อมูลถึงขนาดนี้ ในส่วนของการตัดสินใจจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของท่านนายกฯ ที่จะดำเนินการ ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า ท่านนายกฯ และทีมที่ปรึกษาของท่านน่าจะมีเหตุผลและข้อมูลครอบคลุมทุกด้านอยู่แล้ว ซึ่งตนก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด อย่าใช้เรื่องนี้ทำลายคนและพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยให้โอกาสได้เป็นถึงรัฐมนตรีอีกเลย”