ดรามา “โตโน่” ยังแรง “ดร.อานนท์” ถล่ม “หมอริท” พูดไม่ถูก รพ.ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ เงินบริจาคช่วยได้เยอะ “วิมล” ซัด อย่าเลียน้ำลายคนอื่นมาพูดเอาเท่ “อั๋น” ผสมโรง ไม่ให้เป็นตัวอย่าง “รัฐสวัสดิการ” หน้าที่รัฐ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ แชร์โพสต์ของ Fuangrabil Narisroj ระบุว่า
“อาจมียิ้มอาบ
ฉาบบนสีหน้า
ว่ามีน้ำใจ
แต่สิ่งซ่อนไว้ในดวงจิต
คือความ ริท-สะ-หยา”
และแชร์เพจเฟซบุ๊ก วิมล ไทรนิ่มนวล ระบุว่า
*จะวิ่งจะว่ายอีกกี่ร้อยครั้ง ได้เงินบริจาคกี่พันล้านก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ถ้าไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้าง*
เมิงพูดกี่ครั้งก็ดูเท่ทุกครั้งแหละ แต่เมิงต้องรู้ก่อนว่า “โครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่นี้เป็นแบบไหน อย่างไร” แจกแจงให้ชัด และเมิงต้องการให้เป็นแบบไหน อย่างไร อย่าเลียน้ำลายคนอื่นมาพูดพล่อยๆ เอาเท่
เมิงต้องรู้ต่อไปอีกว่า... โครงสร้างสังคมแม้จะเลอเลิศแค่ไหน แต่ถ้าคนชั่ว คนถ่วงความเจริญ คนจิตใจต่ำ คนไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ไม่มีสำนึกสาธารณะ ไม่มีน้ำใจ ไมมีความเป็นมนุษย์ โครงสร้างที่เลอเลิศนั้น ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เหมือนคฤหาสน์หรู แต่คนอยู่กักขฬะโสมม คฤหาสน์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น
เมิงต้องการโครงสร้างสังคมแบบไหน อย่างไร เมิงต้องมี “โครงสร้างจิตสำนึกและเนื้อหาจิตสำนึก” ของเมิงก่อน เหมือนเมิงจะสร้างคฤหาสน์อันโอฬารตระการตา มึงต้องมีพิมพ์เขียวก่อน
ถ้าเมิงทำได้แค่ “เอาตีนตัวเองราน้ำ” ขณะที่คนอื่นพาย แล้วเอาแต่ “แกว่งปากยั่วตีนคนอื่น” อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เมิงทำอะไรไม่ได้หรอก เมิงเป็นได้แต่ตัวถ่วงความเจริญของสังคมเท่านั้น
คนจิตใจต่ำทรามไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามอะไรได้หรอก.
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โพสต์ข้อความระบุว่า
“หมอริท พูดไม่ถูกต้องนะครับ สมัยผมอยู่ที่ขอนแก่น รพศ ขอนแก่น ขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจอย่างหนัก พยาบาลต้องใช้ลูกยางยักษ์ปั๊มหายใจช่วยคนไข้ บีบลูกยางกันไปหยุดไม่ได้เลยเป็นวันๆ ถ้ามีเครื่องช่วยหายใจดีๆ พยาบาล หมอ เหนื่อยน้อยลงแน่นอน อย่างโควิดระบาดหนักๆ ก็ขาดเครื่องช่วยหายใจ แต่พระเจ้าอยู่หัวท่านพระราชทานลงมาให้มากมาย จนเพียงพอและผ่านพ้นไปได้
ครอบครัวผมเคยบริจาคเครื่องช่วยหายใจให้ รพศ ขอนแก่น ไปหนึ่งเครื่องเมื่อสิบปีก่อนครับ
อุปกรณ์การแพทย์ดีๆ ทุ่นแรงหมอและพยาบาลไปได้เยอะนะครับหมอริท มันมีอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ และทุ่นแรงหมอพยาบาลไปได้มากมายครับ อย่ามัวแต่ฉีดสเตียรอยด์รักษาสิวครับน้องหมอริท”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพหมอริท พร้อมครอบครัว บริจาคเงิน 2 แสนบาท พร้อมระบุว่า
“ครับ”
อย่างไรก็ตาม วันนี้ หมอริท เดอะสตาร์ หรือ หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช รุ่นน้องเพื่อนสนิทของโตโน่ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ @MhorRitz ถึงโครงการ “One Man And The River” ระบุว่า
“ยินดีด้วยกับการ #ว่ายน้ำข้ามโขง ของพี่ #โตโน่ภาคิน ในวันนี้นะครับ ที่ปลอดภัย และได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก อย่างแรกต้องขอขอบคุณในน้ำใจและความเสียสละของพี่ที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ คนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อคนอื่นแบบพี่ ไม่ได้หาได้ง่ายเลย นับถือใจจริงๆ (1)
ในบทสัมภาษณ์มีหลายครั้งที่พี่พูดว่า ที่พี่มาว่ายน้ำครั้งนี้ เพราะหมอและพยาบาลเค้าเหนื่อยกว่า เสี่ยงกว่า เลยอยากขออนุญาตฝากมุมมองไว้ซักนิดครับ เผื่อพี่อาจจะลืมมองเหตุผลพวกนี้นะครับ (ไหนๆ คนก็สนใจโครงการพี่เยอะแล้ว) (2)
1. ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1000 ล้าน หมอ พยาบาล เค้าก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทย คือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ (3)
(ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิเข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม (4)
ซึ่งทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนด ทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอๆ ก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ครับ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อยครับ (5)
2. พี่บอกว่าหมอพยาบาลเสี่ยง คำถามคือ แล้วใครปล่อยให้หมอพยาบาลทำงานภายใต้ความเสี่ยง? ถ้ารู้ว่าเค้าทำงานแบบเสี่ยงอยู่ ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็นและไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริงๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค? (6)
ส่วนตัวมองว่า การบริจาคไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่ที่มา หลักการ จุดประสงค์ของโครงการและการนำเงินไปใช้ต้องชัดเจน รวมถึงควรสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไปในตัวด้วยครับ ถ้าพี่สื่อสารจุดนี้ได้ด้วย คิดว่าคนไม่เห็นด้วยน่าจะน้อยลงนะครับ และทำให้โครงการของพี่ดูมีเหตุสมควรมากขึ้น (7)”
ขณะเฟซบุ๊ก ตุ๊ดส์reviewโพสต์ภาพและความเห็นของ “อั๋น ภูวนาท คุณผลิน” ด้วยว่า
“#ว่ายน้ำข้ามโขง #โตโน่ภาคิน
วันนี้มีสลิ่มมาถล่มที่เพจเราทั้งวัน สนุกสนานกับความดักดานของพวกเธอมากเว่อร์
คนที่คิดไม่ได้ ก็คือคิดไม่ได้ตลอดไป มีอยู่จริงๆ
ส่วนคนที่เขาคิดได้ เขาจะมองออกว่า event แบบนี้มันไม่ต้องทำ เพราะรัฐสวัสดิการ เป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ของเรา การที่รัฐไม่ทำงาน แล้วเรามาช่วยเหลือกันเอง วุ่นวายกันเองไปตลอด แล้วเราจะมีรัฐบาลไว้ทำอะไร?
มีคนพิมพ์คอมเมนต์หาเราทำนองว่า “จากยอดบริจาควันนี้ คุณต้องยอมรับความพ่ายแพ้นะคะ คุณบอย”
เราพูดตรงๆ เลยนะ “ประเทศที่อยู่ได้ด้วยการบริจาค มีใครชนะเหรอครับ แพ้ทั้งประเทศ ยังมองไม่ออกกันอีก” 🙁
ยอดบริจาคที่สูง มันไม่ใช่เรื่องต้องอวดความภูมิใจฮะ เพราะมันยิ่งสะท้อนปัญหาโครงสร้าง ค่านิยมการบริจาค และความไม่พัฒนาทางความคิดของคนในชาติ เราก็หวังไง...ว่าเธอจะทบทวนกันดูบ้าง
ขอบคุณคุณอั๋นที่เป็นตัวแทนของบุคคลสาธารณะที่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ทำให้คนได้ฉุกคิดว่า “เราควรทำอะไร และใครควรทำหน้าที่อะไรเพื่อเรา?”
IG : Tootsyreview
TW : ThinkTalkLoud
#ตุ๊ดส์review
#ThinkTalkLoud
แน่นอน, ประเด็นก็คือ หลายคนมองกรณีโตโน่แบบมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม การช่วยกันคนละไม้คนละมือ การมีน้ำใจแบ่งปันเผื่อแผ่ คนที่มีโอกาสช่วยคนด้อยโอกาส คนคิดดี ต้องการหาทางแบ่งเบาภาระรัฐบาลและสังคม เพื่อที่สังคมจะอยู่ดีมีสุข และผู้คิดดี ก็จะมี “ยาใจ” อันสำคัญในการนำพาชีวิตก้าวไปอย่างสดชื่นเบิกบาน ไม่อมทุกข์ ห่อเหี่ยว อิจฉาริษยา เครียดกับทุกเรื่องไปหมด นี่คือ ความเป็นมนุษย์
แต่คนอีกส่วน คิด “เชิงยุทธศาสตร์” การต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม โครงสร้างที่เป็นปัญหา จึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะยื่นมือเข้าไปช่วย หรือ แบ่งเบา เพราะถ้าโครงสร้างดังกล่าวดี ก็จะทำให้การแก้ปัญหาทั้งหมดได้ และนี่คือ การเรียกร้องทางการเมืองอีกอย่าง ที่โหนกระแส “โตโน่” นั่นเอง
อย่าลืมว่า การต่อสู้ “เชิงยุทธศาสตร์” เริ่มมีขบวนการชัดขึ้นในสังคมไทย หลังจากมีการทำสงครามทางความคิดผ่านสื่อโซเชียลอย่างได้ผล และปลุกกระแส “คนรุ่นใหม่” ให้ต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจล้าหลัง และไม่เป็นธรรม อย่างที่ “ม็อบ 3 นิ้ว” กำลังทำอยู่
ดังนั้น ต่อให้หาเหตุผลอะไรมาตอบโต้ อธิบาย ก็ไม่มีทางที่สองฝ่ายจะเข้าใจ ยอมรับกันได้ เพราะเป็นการพูดคนละเรื่องเดียวกัน นี่คือความจริง