xs
xsm
sm
md
lg

“อ.แหม่ม” เตือนไทยขาดดุลแฝดนาน 8 เดือน จุดเสี่ยง ศก.แนะเพิ่มรายได้ท่องเที่ยว-สร้างความมั่นคงพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.นฤมล” ชี้ ไทยขาดดุลการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในเวลาเดียวกัน หรือ “ขาดดุลแฝด” ต่อเนื่องนาน 8 เดือน เป็นจุดเสี่ยงเศรษฐกิจ แนะเร่งเพิ่มรายรับจากการท่องเที่ยว-สร้างความมั่นคงทางพลังงาน

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ Facebook ส่วนตัวสะท้อนมุมมองว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เคยบอกไว้ให้ติดตามและเฝ้าระวัง ภาวะ ”ขาดดุลแฝด” คือ การขาดดุลการคลัง และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในขณะเดียวกัน

ไทยยังใช้นโยบายขาดดุลการคลัง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ที่กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.88% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ( GDP) ส่วนตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด ตั้งแต่มกราคมถึงสิงหาคม 2565 มีเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวที่เกินดุล เดือนอื่นที่เหลือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง

เมื่อเจาะดูดุลบัญชีเดินสะพัดรายเดือน พบสิ่งที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่มกราคม 2564 ถึงสิงหาคม 2565 ไทยขาดดุลบริการมาตลอดทุกเดือน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น้อยลง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ห้วงเวลาเดียวกัน ไทยยังเกินดุลการค้าทุกเดือนจนถึงมิถุนายน 2565 จนมาสองเดือนหลัง คือ เดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2565 ที่เริ่มเกิดการขาดดุลการค้า นั่นคือ มูลค่าจากการนำเข้าสินค้ามากว่ามูลค่าจากการส่งออกสินค้า ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการนำเข้าน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมมากกว่าการส่งออก และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง

จึงเรียกได้ว่า ไทยเกิดภาวะขาดดุลแฝดต่อเนื่องมาหลายเดือน และภาพรวมทั้งปี 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ประเมินไว้ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 266,000 ล้านบาท คิดเป็น 1.5% ของ GDP แต่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นับถึง สิงหาคม 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสะสมไปแล้วถึง 1,275,165 ล้านบาท มากกว่าที่สภาพัฒน์คาดไปแล้วเกือบ 5 เท่า

การขาดดุลแฝด ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศเช่นกัน เพราะภาวะการคลังติดลบเกือบหมด รัฐบาลต่างจำเป็นต้องอาศัยการกู้เป็นเครื่องจักรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังมาเจอขาดดุลการค้าจากการนำเข้าน้ำมันประกอบกับสกุลเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้อยู่ในภาวะขาดดุลแฝดนานไปย่อมไม่เป็นผลดี จำเป็นต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด และปรับนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ด้วยแนวทางลดการขาดดุลบริการ ตามที่รัฐบาลส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อเพิ่มรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น ส่วนแนวทางลดการขาดดุลการค้า เราควรต้องทบทวนและเอาจริงเอาจังกับแผนความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงาน

ขณะเดียวกัน นโยบายทางการคลังจากนี้ไปต้องรัดกุม หลีกเลี่ยงการกู้เงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ ยิ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องตั้งงบประมาณรองรับในอนาคตก็สูงตาม จึงควรพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือ การระดมทุนด้วยกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน


กำลังโหลดความคิดเห็น