นักวิชาการ เผย กสทช.เดินตามกฤษฎีกา ไฟเขียวควบรวม ทรู-ดีแทค นักกฎหมายชี้ประธานบอร์ดมาถูกทาง มีภาวะผู้นำ ยึดหลักตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ
ดร.รุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษ นักวิชาการและนักกฎหมาย ได้ให้ความเห็นต่อกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจ ตามประกาศ ปี 2561 พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม โดยกล่าวว่า กสทช. มาถูกทางที่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และสอดคล้องตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ เพราะการควบรวมทรูและดีแทค เป็นการที่สองบริษัทควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B=C) ซึ่งเป็นกรณีที่เรียกว่า Amalgamation ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปมีอำนาจ Take Over หรือควบคุมในผู้รับใบอนุญาตอีกฝ่าย แต่เป็นการควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ ตามประกาศจึงไม่ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น จึงต้องยึดตามประกาศของ กสทช. ปี 2561 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวบกิจการ แต่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ สอดคล้องกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ กสทช.ได้ให้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และข้อสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความเห็นและให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานทางราชการ ทั้งสองหน่วยงานมีบทสรุปที่สอดคล้องกันว่า กสทช. ต้องพิจารณาตามประกาศของ กสทช. พ.ศ. 2561 ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่รับทราบเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีอำนาจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวม ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมประธาน กสทช.ที่มีภาวะผู้นำสูง กล้าตัดสินใจชี้ขาดให้เดินตามกฎหมายประกาศปี 2561 และไม่เลือกปฏิบัติ จึงถือเป็นทางออกที่ถูกต้อง
“ต้องยอมรับว่า ประธานบอร์ดมีภาวะผู้นำสูงมาก กล้าตัดสินใจในเรื่องยากที่สังคมจับจ้องและมีธงไว้อยู่แล้ว ถือว่าประธานบอร์ด กสทช.ได้นำพาคณะกรรมการ กสทช.ให้ทำหน้าที่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ เพราะ กสทช.เป็นองค์กรอิสระ ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และคณะกรรมการ กสทช.ก็ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงถูกควบคุมโดยกฎหมายนี้ ตามมาตรา 172 ที่ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้อาจจะรวมไปถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ได้กำหนดความผิดไว้เช่นกันด้วย” ดร.รุจิระ กล่าว
“บอร์ด กสทช.ชุดนี้ แตกต่างกับที่ผ่านมา ตรงที่ไม่มีนักกฎหมาย ถูกเลือกเข้ามาเป็น บอร์ด กสทช.เลย จึงไม่มีผู้ที่คอยชี้นำแนวทางที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องควบรวมนี้ ที่การพิจารณาประเด็นด้านข้อกฎหมายซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมาก” ดร.รุจิระ กล่าว และเสริมต่อไปว่า ตามประกาศปี 2561 ไม่ได้ปิดกั้นอำนาจของ กสทช. ทั้งนี้ เพราะ กสทช.สามารถพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ซึ่งมั่นใจว่า กสทช.จะออกมาตรการหรือเงื่อนไขที่ทำให้เดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนาภาคโทรคมนาคมไทยให้ก้าวหน้า