xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละ 2 ปี “1 ตำบล 1 มหาลัย” เงินกู้สู้โควิด 9.3 พันล้าน สร้างงานบัณฑิตใหม่ เฟสแรก ปัญหาเพียบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.ชำแหละ 2 ปี “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” แผนเงินกู้สู้โควิด 9.3 พันล้าน เฟสแรก 3 พันตำบล พบสารพัดปัญหา หวังสร้างงานบัณฑิตจบใหม่ 7.9 พันตำบล แต่ต่ำกว่าเป้าหมาย แถมผลลัพธ์โครงการปีแรก มีเพียง ร้อยละ 55.73 ไม่สามารถประเมิน ระยะ 2-5 ได้ตามแผน แถมผลการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย แค่ร้อยละ 88.18 ก่อนปิดปีงบฯ 65

วันนี้ (17 ต.ค.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่ ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)

ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯภายใต้แผนงาน/โครงการ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พ.ศ. 2563 วงเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท

“เงินกู้ ที่ สป.อว. ได้รับจัดสรร 9,373.09 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ในพื้นที่ 3,000 ตำบล เป้า 60,000 อัตรา ๆละ 15,000 บาท ระยะเวลา 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. 2564 ซึ่ง สตง.ตรวจสอบ ถึงวันที่ 26 ส.ค. 2565”

สตง. พบว่า ขณะนี้ โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 ที่ตั้งเป้า 7,900 ตำบล เนื่องจาก ผลลัพธ์ของโครงการปีที่ 1 บางส่วนยังไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนด จึงไม่สามารถพัฒนาต่อยอดโครงการในปีที่ 1

โดยโครงการปีที่ 1 มีผลลัพธ์เพียง ร้อยละ 55.73 ของตำบล ที่เข้าร่วมทั้งหมด และมีตำบลที่เข้าร่วมโครงการบางส่วน ยังมีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายกำหนด

จึงไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มตำบลพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตำบลมุ่งสู่ความพอเพียง หรือตำบลที่อยู่รอด

ซึ่ง สป.อว. กำหนดให้เป็นกลุ่มตำบลที่ “ยังไม่รอดพ้นจากความยากลำบากหรือตำบลยากลำบาก” มีถึง 55 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 1.83 ของกลุ่มตำบลเป้าหมายทั้งหมด

ทั้งนี้ ใน 55 ตำบลดังกล่าว พบว่า มีตำบลที่มีศักยภาพลดลงหลังจากเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1 ตำบล โดยก่อนเข้าร่วมโครงการผลการประเมินศักยภาพตำบลคือ ตำบลมุ่งสู่ความพอเพียง แต่ภายหลังสิ้นสุดโครงการ ผลการประเมินศักยภาพลดลงเป็น ตำบลยากลำบาก

จากการสุ่มจาก “ผู้นำท้องถิ่น/ผู้นำชุมชน” ของจำนวนตำบลและผู้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาตำบล เห็นว่ากิจกรรมการพัฒนาตำบลอาจยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้กับตำบลได้ตามผลสัมฤทธิ์ที่โครงการกำหนด และผู้เข้ารับการจ้างงาน

มีความเห็นว่า กิจกรรมการพัฒนาตำบลยังไม่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนได้ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงการสะท้อนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการที่ผ่านมาเท่านั้น

การที่ผลการดำเนินงานโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ยังมีตำบลบางส่วน ที่ผลการดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินกู้ 1,911,737,802.74 บาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลในด้านต่างๆ จำนวน 3,000 ตำบล

จึงยังไม่ทราบถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินได้อย่างชัดเจน รวมทั้งไม่ทราบถึงปัญหาอุปสรรค ไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหวังของโครงการ และเกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้

สุดท้าย สตง. พบว่า กิจกรรมหลักบางกิจกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น กิจกรรมการจ้างงานในภาพรวมทั้งประเทศ “ต่ำกว่าเป้าหมายกำหนดไว้”

มีการจ้างงานในภาพรวมเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 87.47 ของเป้าหมายการจ้างงาน แบ่งเป็นการจ้างงานประชาชนทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 88.94 ของจำนวนเป้าหมายกลุ่มประชาชนทั่วไป

หรือ การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ คิดเป็นร้อยละ 87.36 ของจำนวนเป้าหมายกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และการจ้างงานนักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 86.25 ของจำนวนเป้าหมายกลุ่มนักศึกษา

“โดยมีการจ้างงานในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 90,181 อัตรา จากเป้าหมาย 200,000 อัตราทั่วประเทศ”

ขณะที่ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 9,373.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.18 ของกรอบวงเงินงบประมาณโครงการ และมีเงินงบประมาณคงเหลือ จำนวน 1,256.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.82 ของกรอบวงเงินงบประมาณโครงการ

ณ วันที่ 29 ส.ค. 2565 สป.อว. ยังไม่รายงานเงินกู้เหลือจ่ายให้กระทรวงการคลังทราบ และส่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม สตง.มีข้อเสนอแนะให้ปลัด อว.พิจารณาดำเนินการแก้ไขแล้ว โดยเฉพาะเร่งรัดจัดทำหลักเกณฑ์แนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการในปีที่ 2-5 ให้มีความชัดเจน ให้คุ้มค่ากับเงินกู้กว่าหมื่นล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น