สธ.แจงถ่ายโอน รพ.สต. 441 แห่งในให้ อบจ. 6 จังหวัด ไร้ปัญหาให้บริการประชาชน มีการเตรียมพร้อมรองรับ ส่วนแห่งอื่นที่รอ อบจ.พร้อมรับโอน จะจ้างลูกจ้างและ พกส.เบื้องต้น 2 เดือน ย้ำบุคลากรระหว่างรอถ่ายโอน เปลี่ยนใจกลับมาไม่ได้ เพราะเป็นมติ ครม. หากโอนย้ายไปแล้วอยากกลับมาต้องให้ อบจ.พิจารณา เหตุไม่ใช่คนใน สธ.แล้ว
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา มีการถ่ายโอนไปส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้รับรายงานว่าประชาชนมีปัญหาการรับบริการแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะมีการปิดจุดอ่อนตรงนี้ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านเกรงว่าจะเกิดปัญหา จึงทำงานเชิงรุกไว้ก่อน เช่น สธ.เอื้ออำนวยการจัดส่งยาให้ รพ.สต. บางแห่งสำรองไว้ประมาณ 2 เดือน นอกจากนี้ รพ.สต.แห่งใดมีแพทย์บริการตรวจรักษา และหากถ่ายโอนแล้วไม่มี ก็มีการทำ MOU ร่วมกันระหว่าง สธ. และ อบจ.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว 6 จังหวัด รวม รพ.สต. 441 แห่ง โดยให้แพทย์ช่วยตรวจรักษาไปก่อนระหว่างรอ อบจ.มีความพร้อม ซึ่งเขียนชัดถึงระบบบริการที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างไรเมื่อไปอยู่ อบจ.แล้ว โดย อบจ.ต้องวางแผนและรับช่วงต่อจากนี้ เพื่อไม่ให้กระทบการบริการประชาชน
เมื่อถามถึงฟีดแบกของบุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้ว ซึ่งบางส่วนอยากขอโอนกลับมา สธ. นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า ข้าราชการที่ถ่ายโอนไปแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร มีเพียงบางส่วนที่อยากโอนกลับมา สธ. ซึ่งตรงนี้ต้องให้ อบจ.ไปพิจารณา เพราะเรื่องนี้ผ่านมติ ครม.เรื่องการถ่ายโอนมาแล้ว หมายความว่า บุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้วจะไม่ใช่ของ สธ.อีก แต่เป็นของอบจ. ที่กังวลคือ เรื่องการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ว่า อบจ.จะมีการจ้างต่อไปหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีการทำข้อตกลงร่วมกัน เนื่องจาก สธ.กังวลว่า ถ่ายโอนไปแล้ว อบจ.จะสามารถจ้างต่อได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากงบประมาณที่ตั้งไว้อาจไม่ได้เซตไว้สำหรับค่าจ้างส่วนนี้ทั้งหมด ระหว่างรอ อบจ.พร้อม สธ.จึงช่วยเหลือด้วยการจ้างงาน พกส.และลูกจ้างกลุ่มที่รอการถ่ายโอนไปก่อน จนกว่า อบจ.จะพร้อมจ้างงานต่อก็จะ MOU ต่อได้ทันที
เมื่อถามว่า สธ.จะจ้างลูกจ้าง กับ พกส. ต่อไปนานเท่าไรจนกว่า อบจ.จะพร้อม นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า เบื้องต้น 2 เดือนแรกก่อน จนกว่า อบจ.จะพร้อมรับช่วงการจ้างต่อไป ซึ่งขณะนี้มีรพ.สต. 441 แห่ง และ อบจ. 6 จังหวัดที่พร้อมและรับภารกิจต่อไปแล้ว ดังนั้น ระหว่างนี้ที่เหลืออยู่ก็ต้องดำเนินการให้พร้อมเช่นกัน แต่หากเกิน 2 เดือนแล้ว อบจ.ยังไม่พร้อม สธ.ก็ต้องช่วยไปก่อน
ถามต่อว่าการจ้างลูกจ้างและ พกส. หมายถึงจ้างให้ไปทำงานที่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว หรือจ้างอยู่ที่รพ.ในสังกัด สธ. นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ตามระเบียบต้องจ้างบุคลากรให้ทำงานในส่วนราชการของ สธ. เช่น หาก รพ.ไหนจ้างด้วยเงินบำรุงก็ต้องทำงานให้กับ รพ.นั้น เพราะระเบียบเงินบำรุงไม่สามารถจ้างและยกให้หน่วยงานอื่นในการปฏิบัติงาน ทำเช่นนั้นไม่ได้ จะผิดระเบียบเงินบำรุงและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบเรื่องนี้
เมื่อถามว่าลูกจ้างและ พกส. ที่ สธ.จ้างด้วยเงินบำรุง สธ.ระหว่างรอ อบจ. หากต้องการเปลี่ยนใจกลับมาอยู่กับ สธ. ทำได้หรือไม่ นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า มีมติ ครม.ออกมาแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะก่อนจะถ่ายโอนได้มีการสอบถามและส่งเรื่องมานานแล้ว แม้แต่ข้าราชการที่ถ่ายโอนไปก็เช่นกัน เมื่อถ่ายโอนก็จะออกจากระบบของ สธ.แล้ว ในเรื่องระบบบริการประชาชน สธ.มีการเตรียมพร้อมก่อนถ่ายโอน โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน ส่วนลูกจ้าง สธ.ก็ช่วยจ้างไปก่อน และรอความพร้อมของ อบจ.เพื่อรับช่วงต่อ