xs
xsm
sm
md
lg

สภา กทม.กันงบฯ ก้อนเก่า 2.4 พันล้าน เจียดลงก้อนใหม่ “ตัดเหี้ยน” แผนเก่าพันล้าน ปรับภูมิทัศน์คลองรอบทำเนียบ โดนด้วย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภา กทม.กันงบฯก้อนเก่า 2.4 พันล้าน ใช้เบิกเหลื่อมปีในงบฯ 66 พบตั้งไว้ ลงทุนปรับปรุง “ศาลาว่าการฯ ดินแดง” 156 ล้าน กันไว้ใน “งบกลาง” 240 ล้าน ใช้ซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะ พ่วง 30 โครงการ “สำนักระบายน้ำ” 1.2 พันล้าน ปรับปรุง “ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์” 87 ล้าน ติด “กล้องวงจรปิด” 11 โรงเรียน กทม.เขตภาษีเจริญ 139 ตัว เฉพาะ “วัดนิมมานรดี” 30 ตัว เผย สภา กทม. “ตัดเหี้ยน” แผนเก่ากว่าพันล้าน “ปรับภูมิทัศน์คลองผดุงกรุงเกษม รอบทำเนียบ” โดนด้วย! 400 ล้าน

วันนี้ (14 ต.ค.) มีรายงานจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ภายหลัง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กท 1902/3534 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2565 เรื่อง ขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ทั้งนี้ ไว้สำหรับเบิกเหลื่อมปี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณและการพาณิชยัของ กรุงเทพมหานคร จำนวน 122 รายการ จำนวนเงิน 3,308,081,690 บาท

ล่าสุด ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2565 เมื่อ 28 ก.ย.2565 มีมติ “เห็นชอบ” ให้กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ไว้เบิกเหลื่อมปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณและการพาณิชย์ของ กทม.จำนวน 85 รายการ 2,448,505,332 บาท

“เห็นชอบ” ให้ถอนรายการขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ65 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบฯ66 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน)

เนื่องจากหน่วยงานสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทัน ภายในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 65 จำนวน 17 รายการ 239,367,808 บาท

และปรับลดวงเงินที่ขอกันเงิน จำนวนเงิน 45,589,000 บาท รวมจำนวนเงิน 284,956,808 บาท

โดย “ไม่เห็นชอบ” กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 65 ไว้เบิกเหลื่อมปี ในปีงบฯ 66 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) จำนวน 20 รายการ 574,619,550 บาท

ทั้งนี้ พบว่า โครงการที่ กทม. กันเงินไว้ใช้ในงบปีฯ 66 จำนวน 85 รายการ วงเงินกว่า 2.4 พันล้าน ที่น่าสนใจ เช่น งบลงทุนของสำนักการแพทย์ 292 ล้านบาทเศษ “โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์”

“เป็นการจัดตั้งห้องผ่าตัดหลอดเลือดและทรวงอก วงเงิน 152 ล้านบาทเศษ จัดหาครุภัณฑ์โภชนาการ 28.8 ล้านบาท ศูนย์ส่องกล้องระบบระบบอาหารและทางเดินหายใจ 77 ล้านบาทเศษ”

เป็น “งบลงทุน” ของสำนักโยธา เช่น สำหรับ “ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง” ปรับปรุงระบบวิศวกรรรม อาคารธานีนพรัตน์ 152 ล้านบาทเศษ ตั้งไว้เป็น “งบกลาง“ฃ” 4.8 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารไอยราพัฒนา

ยังพบว่า เป็นงบที่ตั้งไว้ใน “งบกลาง” 240 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะ

กทม. ยังให้กันเงินงบประมาณ สำหรับ “สำนักระบายน้ำ” ทั้งงบลงทุน และงบกลาง สำหรับโครงการปรับปรุง/ก่อสร้างระบบน้ำเสีย/แก้มลิง/แนวป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ กว่า 30 โครงการ วงเงินรวม 1,274,360,000 บาท

ยังมีงบกลาง ที่จัดสรรให้สำนักการจราจรและขนส่ง 47 ล้าน เช่นการติดตั้งไฟจราจร จากความร่วมมือของ JICA วงเงิน 13.1 ล้านบาท หรือ งบลงทุน ที่จัดสรรสำหรับปรับปรุง “ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์” 87 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ ยังพบว่า มีแผนติดตั้ง “กล้องวงจรปิด” ในพื้นที่ 11 โรงเรียน สังกัด กทม. จำนวน 139 ตัว เฉพาะ รร.วัดนิมมานรดี ถึง 30ตัว เป็นงบลงทุนของเขตภาษีเจริญ วงเงินกว่า 6 ล้านบาทเศษ

สำหรับโครงการที่ “ถูกถอน” ออก พบว่า เป็นโครงการก่อสร้างเสาผูกเรือตรวจการเอกประสงค์ประสงค์ วงเงิน 2.5 ล้านบาท ที่ สำนักเทศกิจ ตั้งไว้ในงบลงทุน รวมทั้งโครงการจัดซื้อเครื่องเตือนภัยส่วนบุคคล วงเงินกว่า 44 ล้านบาทเศษ ของ ปภ.กทม.

สภา กทม. ยังไม่ให้ความเห็นชอบกันเงิน “งบเพิ่มเติม” โดยตัดโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 8 รายการ สำหรับศูนย์เยาวชนลุมพินี ของสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว วงเงิน 574 ล้านบาทเศษออก โดยให้เหตุผลว่าราคาแพง

"รวมถึง ตัดงบโครงการเดิม ของสำนักการโยธา เป็นงบลงทุนกว่า 453 ล้าน ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ในหลายช่วง ซึ่้งเป็นโครงการ ที่สืบเนื่องจากนโยบายปรับปรุงคลองผดุงกรุงเกษม ของรัฐบาล

โดยเฉพาะ พื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล วงเงินกว่า 200 ล้านบาท เช่น แผนปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม สะพานมัฆวานรังสรรค์ พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตดุสิต 99,800,000 บาท ช่วงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถึงสะพานเทเวศรนฤมิตร พื้นที่เขตดุสิตและเขตพระนคร 99,400,000 บาท เป็นต้น

“คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ลงพื้นที่แล้ว เห็นว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ยังไม่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ ให้ความเห็นว่า ปัญหาความไม่เรียบร้อยใบบริเวณดังกล่าว มีร้านค้า รถจอด และไฟฟ้าไม่สว่าง หากแก้ปัญหาเหล่านึ้ได้ พื้นที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า”


กำลังโหลดความคิดเห็น