xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ เกมซ่อนเงื่อนกับดักทางการเมือง แจง “เพื่อไทย” วางตัว “เศรษฐา-แพทองธาร” เป็นนายกฯ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ เกมซ่อนเงื่อนกับดักทางการเมือง ถอดรหัสคณิตศาสตร์ทางการเมือง ชี้ “เพื่อไทย” วางตัว
“เศรษฐา-แพทองธาร” เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้


วันนี้ (12 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งก่อนสิ้นวาระอายุสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต่างเปิดตัววางตัวนายกรัฐมนตรีแต่ละพรรคการเมืองโดยพรรคเพื่อไทยได้ปล่อยกระแสเพื่อวางตัว นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อันดับ 1 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร “อุ๊งอิ๊ง” อันดับ 2 ซึ่งใช้กลยุทธ์ทางการเมืองให้ชนะแลนด์สไลด์ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า จึงได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ในประเด็นดังกล่าว ว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ออกแบบการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยเป็นบุคคลภายนอกพรรคการเมืองก็ได้ ไม่จำต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยให้แต่ละพรรคเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อ กกต.ก่อนปิดรับสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง หรือพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีก็ได้ ตามมาตรา 88 วรรคสอง โดยให้หลักความยินยอม ซึ่งมาตรา 89 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ 2 ส่วน คือ ต้องมีหนังสือยินยอม และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ที่สำคัญไม่เคยทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น หมายความว่า เสนอรายชื่อได้เพียงพรรคการเมืองเดียว โดยให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกท้ังหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยการเสนอรายชื่อตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”ดังนั้น พรรคการเมืองต้องได้เสียงเกิน 25 เสียงขึ้นไป และต้องมีเสียงรับรอง 1 ใน 10 ของจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฏร เป็นเงื่อนไขของการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญ ประเพณีทางการปกครองนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองใดที่ได้เสียงมากสุดให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องมาวัดกันว่า พรรคการเมืองใดแม้ชนะอันดับสอง แกนนำใครรวบรวมเสียงได้มากสุด ถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ หากถอดคณิตศาสตร์ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสาม มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ”สภาผู้แทนราษฎร”

ท่านอย่าเพิ่งดีใจไป หากมาตรา 159 วรรคท้าย หมายถึง ส.ส.500 คน กึ่งหนึ่ง 250 คน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซ่อนเงื่อนไขไว้ตามที่เคยจัดทำประชามติกันไว้ให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเขียนไว้ใน บทเฉพาะกาลในมาตรา 272 ยกเว้นมาตรา 159 ไว้ ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนญูนี้(2562) การให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่งให้กระทำ”ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็น นายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ทั้งในการอุดช่องว่างในการเลือกนายกรัฐมนตรีเอาไว้ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้ ที่กล่าวมาเป็นข้อกฎหมาย หากนับระยะเวลา 5 ปีนับแต่มีสภาครั้งแรกในปี 2562 ปัจจุบันสมาชิกวุฒิสภายังมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หากดูการเสนอชื่อบุคคลที่จะจัดลำดับเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ในช่วงโค้งสุดท้าย ถือว่า เป็นปกติทางการเมือง แต่จะรวบรวมเสียงข้างมากได้หรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากสุดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระแสพรรคเพื่อไทยวางตัวนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร “อุ๊งอิ๊ง” อันดับ 2 มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ มองยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างไร ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่กำหนดไว้ แต่ส่วนใหญ่จะเสนอรายชื่อก่อนปิดรับสมัคร หมายความว่า อาจเปลี่ยนตัว เปลี่ยนลำดับกะทันหันก็ได้ แตกต่างการทำไพรมารี่โหวตของการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาแต่ละมลรัฐ ก่อนที่คว้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อย่าลืมว่าเมืองไทยใช้ระบบรัฐสภา ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ถามว่า การเสนอตัวบุคคลทั้งสองในยุทธศาสตร์ทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนผู้สนับมองว่า ใช้เศรษฐกิจนำการเมือง หมายความว่า ผู้เสนอตัวลำดับ 1 เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน เป็นการโยนหินถามทางมากกว่าเพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองตรงข้ามพุ่งเป้ามาที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นทายาทางการเมืองของคุณทักษิณ ถือว่า เป็นปกติทางการเมืองของทุกพรรคการเมืองที่จะเสนอบุคคลที่มีกระแสทางการเมือง แต่จะได้นั่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ต้องปฏิบัติตามมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 ยกตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทย ได้เสียงมากสุด 249 หรือ 250 เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องไปรวบรวมอีก 126 เสียง ถึงจะได้เสียงกึ่งหนึ่ง (375 เสียง) ตามมาตรา 159 วรรคท้ายประกอบมาตรา 272 วรรคหนึ่ง (ส.ส.500+250=750) โอกาสรวบรวมเสียงให้ถึง 375 เสียงขึ้นไป ให้เป็นเสียงข้างมากในสภาค่อนข้างยากเพราะตัวแปร การต่อรองพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลย่อมใช้อำนาจต่อรองสูง โดยเฉพาะพรรค ปชป.หรือพรรคภูมิใจไทย คนละอุดมการณ์กัน โอกาสจับมือค่อนข้างยาก ตัวอย่างในปี 2562 พรรคเพื่อไทย ชนะเสียงข้างมาก แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หากเทียบเคียงกับ ส.ว.250 เสียง ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ตุนอยู่ในมือ เพียงรวบรวมเสียงอีก 126 เสียง สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่การทำหน้าที่ในสภาจะต้องใช้เสียงข้างมาก (500 เสียง) ดังนั้น จะเห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า เสียงจะปริ่มน้ำเหมือนเดิม จะปรากฏการณ์งูเห่าทางการเมืองของขั้วฝ่ายค้านให้เห็นแน่นอน หากถอดรหัสสมการทางการเมือง หากพรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ให้มากสุด 250 เสียง โอกาสจัดตั้งรัฐบาลโอกาสยาก คือ ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประกอบกฎกติกาเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 68, 72 กรอบ 180 วัน ก่อนวันเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เป็นกฎเหล็กข้อห้ามหยุมหยิม โอกาสแพ้ฟาวล์แบบแลนสไลด์ หรือถูกร้องว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้าจะได้เป็นเพียงรัฐบาลเงาเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น