นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงประชุมสุดยอดผู้นำสตรีอาเซียน ครั้งที่ 2 เน้นย้ำบทบาทไทยในการส่งเสริมศักยภาพและสถานภาพของสตรีอาเซียนในทุกมิติ พร้อมชู BCG Model เสริมสร้างพลังสตรีอาเซียน สู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนและเป็นหนึ่งเดียวกัน
วันนี้ (วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565) เวลา 16.25 น. ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีอาเซียน ครั้งที่ 2 (The 2nd ASEAN Women Leaders’ Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ “การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีในอาเซียน (Building A More Sustainable, Inclusive and Resilient Future: Unlocking Women’s Entrepreneurship)” โดย นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีอาเซียนนี้ พร้อมทั้งชื่นชมกัมพูชาสานต่อเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียน มุ่งเน้นบทบาทของสตรีในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนในโลกยุคหลังโควิด-19 และได้ผนวกเข้าไว้ในปฏิญญาว่าด้วยการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของสตรีในอาเซียนที่จะรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำบทบาทของรัฐบาลไทยในการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างพลังสตรี โดยเฉพาะผู้ประกอบการและแรงงานสตรี ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง โดยมุ่งเน้นใน 3 มิติ ดังนี้
1. การสร้างนโยบายเพื่อเสริมสร้างพลังสตรี ไทยได้แปลงคำมั่นไปสู่การปฏิบัติจริงตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสตรี พ.ศ. 2566-2570 ผ่านการเร่งเสริมสร้างทุนมนุษย์ของสตรีในทุกมิติตลอดช่วงชีวิต โดยตระหนักถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางของสตรีในการพัฒนาตนเองและการพัฒนาประเทศ
2. การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และเสริมทักษะของสตรีในการประกอบอาชีพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ MSME และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มอาชีพสตรีในชนบท
3. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ไทยได้ประกาศการเสริมสร้างพลังสตรีทางเศรษฐกิจ เป็นวาระแห่งชาติ เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสตรีในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ อาทิ การจัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การส่งเสริมการลาของสามีเพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด และการขยายวันลาคลอดของมารดาโดยได้รับค่าจ้าง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า อาเซียนควรร่วมกันเสริมสร้างพลังสตรีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืน โดยการ 1) บูรณาการมิติเพศภาวะเข้าสู่นโยบายทางเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค ตลอดจน 2) ส่งเสริมมาตรการที่กำหนดเป้าหมายเพื่อให้สตรีสามารถปรับตัว รับมือ และฟื้นตัวจากวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดย 3) ไทยส่งเสริมและนำรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) มาใช้เพื่อสนับสนุนบทบาทของสตรี ซึ่งมีผู้ประกอบการสตรีไทยหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจ BCG และสามารถเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานด้านนี้ได้ต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการเสริมสร้างพลังสตรี และบทบาทของผู้ประกอบการสตรีผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน หรือ AWEN (ASEAN Women Entrepreneurs Network) จะนำมาซึ่งประชาคมอาเซียนที่มีความเท่าเทียม มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
อนึ่ง การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีอาเซียน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในรูปแบบผสม (Hybrid) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความต่อเนื่องของพลวัตการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิสตรี และเยาวชนสตรีของอาเซียน รวมถึงเป็นเวทีในการพบหารือระหว่างผู้นำสตรีกับผู้นำอาเซียน เกี่ยวกับประเด็นปัญหาความท้าทายและโอกาสในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีในอาเซียน เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง การฟื้นฟู การเติบโต และความสามารถในการฟื้นตัวสู่สภาพปกติของธุรกิจและวิสาหกิจที่สตรีมีบทบาทนำ โดยในการกล่าวถ้อยแถลงในครั้งนี้ มีผู้นำประเทศที่มีบทบาทสำคัญด้านสตรี อาทิ นิวซีแลนด์ ผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงผู้แทนสตรีที่มีบทบาทสำคัญร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมด้วย