รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ย้ำ “พล.อ.ประยุทธ์” สร้างศูนย์ธุรกิจ EEC-เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะสำเร็จ ชี้ ปี 2566 เปิดให้เอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เชื่อสร้างงาน 200,000 คน ดันมูลค่าจ้างงาน 1.2 ล้านล้านบาท
วันนี้ (8 ต.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคในพื้นที่ EEC โดยมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 22 มีนาคม 2565) ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่ ในพื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุงจ.ชลบุรี ดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เป็น “ศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค” เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตโดยธรรมชาติมนุษย์และเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมและคุณภาพชีวิตระดับสากลของประเทศไทยและจะเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก ในปี 2580 โดยคาดว่า สามารถสร้างงานทางตรง 200,000 คน มูลค่าการจ้างงาน 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2575
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแบบวางโครงการดังกล่าวไว้ให้เป็นเมืองอัจฉริยะทั้ง 7ด้าน คือ 1. Smart Economy (เศรษฐกิจอัจฉริยะ) 2. Smart Living (การดำรงชีวิตอัจฉริยะ) 3. Smart People (พลเมืองอัจฉริยะ) 4. Smart Governance (การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ) 5. Smart Energy (พลังงานอัจฉริยะ) 6. Smart Environment (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ) และ 7. Smart Mobility (การสัญจรอัจฉริยะ) แบ่งประเภทตามลักษณะการใช้งานและใช้ประโยชน์ออกเป็น 2 โซน คือ โซนที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม 70% กับโซนสีเขียว 30% หน่วยงานราชการในพื้นที่สำนักงานใหญ่ของภาคเอกชนศูนย์กลางการเงินศูนย์การแพทย์แม่นยำศูนย์วิจัยนานาชาติศูนย์ธุรกิจอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับ EEC เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ของไทยทั่วประเทศโดยตั้งอยู่บนทำเลที่ยอดเยี่ยมจากสนามบินอู่ตะเภา เพียง 15 กิโลเมตร จากพัทยา 10 กิโลเมตร และจากกรุงเทพมหานคร 160 กิโลเมตร
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ปัจจุบันปี 2565 อยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่และภายในปี 2566 เปิดให้เอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคจะเปิดให้เข้ามาพัฒนาในปี 2567 เพื่อรองรับประชากรได้ 300,000 คน และประมาณการว่าจะมีประชากรเข้ามาอาศัยเพิ่มมากกว่า 1.5 ล้านคน ในอนาคต คาดว่า จะสามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ได้กว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างรายได้ และการจ้างงานถือเป็นการวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน