xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า ชี้วิกฤตความแตกแยกในชุมชนโจทย์ใหม่หลังเลือกตั้งท้องถิ่น ท้าทายการพัฒนา ปชต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขา ส.พระปกเกล้า ชี้ วิกฤตความแตกแยกคนในชุมชนโจทย์ใหม่หลังเลือกตั้งท้องถิ่น ท้าทายการพัฒนาปชต.ในอนาคต “แสวง” เผย กฎระเบียบใช้จัดเลือกตั้งดี แต่ซับซ้อนทำเกิดปัญหา คุยถอดบทเรียนแล้ว ตั้งเป้าจัดเลือกตั้งใหญ่ให้ดี บกพร่องน้อยที่สุด

วันนี้ (28 ก.ย.) นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวระหว่างเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในเวทีสัมมนาสาธารณะ “การประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น” ตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญสุดของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบตัวแทน กลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ให้อำนาจกับประชาชนในการกำหนดคนที่จะมาเป็นตัวแทนไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ดังนั้น หากสามารถทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นแบบ Free and Fair ทุกคนกาบนเสรีภาพทางความคิดปราศจากเงื่อนไข อามิสสินจ้าง มีกลไกควบคุมการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กลไกการตรวจสอบต้องมีประสิทธิภาพที่จะชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งบริสุทธ์ยุติธรรม ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือการสร้างประชาธิปไตยท้องถิ่นเพื่อไปสู่การสร้างประชาธิปไตยระดับชาติ การเลือกตั้งระดับท่องถิ่นเป็นการเลือกตั้งโดยตรง เมื่อพื้นที่เล็ก ความใกล้ชิดพื้นที่ ทำให้การตัดสินใจง่าย ขณะที่อำนาจในการถอดถอนตามกฎหมายยังมีข้อจำกัดทั้งเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งและจำนวนประชาชนเข้าชื่อ พร้อมมองว่าการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง เป็นโจทย์สำคัญในการแก้ปัญหา พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีปรากฏการณ์ใหม่ เช่นแคนติเดตที่น่าสนใจจำนวนมากที่มีข้อเสนอทางนโยบายที่เป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนจับต้องได้ และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทั้งในพื้นที่และภาพรวม โดยมีนโยบายในอนาคตที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคตต้องมีนโยบายและทิศทาง

นายวุฒิสาร มองว่า การเลือกตั้งทางตรงแม้จะมีข้อดีแต่ยังมีข้ออ่อนเช่นทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ทำให้การต่อสู้กันรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เล็ก จะทำให้การจัดเลือกตั้งยาก ทั้งนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง อบจ เทศบาล อบต ที่ผ่านมาหลังถูกแช่แข็งมา 6-7 ปี พบว่าประชาชนตื่นตัว ออกมาใช้สิทธิมาก ผู้สมัครหน้าใหม่และคนรุ่นใหม่ลงสมัคร โดย 60-70% ที่คนหน้าใหม่ได้รับเลือกตั้ง สะท้อนว่าว่าการเลือกไม่ใช่การส่งต่อมรดก และบทบาทนักการเมืองท้องถิ่นเด่นขึ้น ทำให้การเลือกตั้งเปลี่ยน และโจทย์ใหม่คือต้องทำให้หลังการเลือกตั้งจบลงยังเกิดความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน

“วันนี้หลังการเลือกตั้งวิกฤตแตกแยกของคนในชุมชนมากขึ้น ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่อาจจะไม่ค่อยไปในทางบวก หลายท่านคงจำได้ว่าในอดีตการเลือกตั้งแบบเปิดเผย อย่างเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ใครเลือกนาย ก. ยืนฝั่งนี้ ใครเลือกนาย ข. อยู่ฝั่งนี้และได้ผู้ใหญ่บ้าน หลังการเลือกตั้งความสามัคคีของคนในชุมชนก็ยังเหมือนเดิม แต่วันนี้ไม่มีการเลือกตั้งเปิดเผย มีแต่ทางลับแต่ทำให้แปลกแยกบาดหมางมากขึ้น ผมคิดว่าโจทย์นี้เป็นโจทย์ใหม่ของการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตโดยเฉพาะประชาธิปไตยท้องถิ่น”

ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต.ซึ่งเข้าร่วมรับฟังผลการประเมินฯ ระบุว่า จากการถอดบทเรียนของ กกต.และการศึกษาทางวิชาการ ทำให้ กกต.รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยตั้งเป้าให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เป็นการเลือกตั้งที่ดี มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาข้อบกพร่องให้น้อยสุด ทำให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งและคุณภาพของคะแนนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครหรือพรรคอยากเห็นการเลือกตั้งดี ผลการเลือกตั้งก็จะเป็นอีกแบบ แต่ถ้ามุ่งหวังเพียงชัยชนะเพียงอย่างเดียว ผลการเลือกตั้งก็จะต่างไป ดังนั้น กกต.ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย และต้องทำให้เกิดการยอมรับการประมวลผลการเลือกตั้ง โดยต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่นผลการนับคะแนน เช่น ใบ สส. 5/18 ที่ปิดประกาศหน้าหน่วย เดิม อาจจะถูกลมพัดปลิวเสียหาย สำนักงาน กกต. มีแนวทางว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะนำลงในเว็บไซต์ขณะที่นับแล้วเสร็จเพื่อแสดงความโปร่งใส ตัดปัญหาคนที่คิดว่า กกต.เปลี่ยนแปลงคะแนนหรือไม่ พร้อมยอมรับว่ากฎระเบียบที่ใช้ในการจัดเลือกตั้งดี แต่มีความซับซ้อนบ้าง จึงทำให้เกิดปัญหาการทำหน้าที่ในการทำหน้าที่ของ กปน. ซึ่งก็ได้จัดอบรมและจัดคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น