“รสนา” เชิญชวนประชาชนผู้เดือดร้อนจากค่าไฟแพงติดตามศาล รธน. พิจารณาปมการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% ว่าขัด รธน.หรือไม่
วันนี้ (22 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และอนุกรรมการบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรผู้บริโภค ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ติดตามศาล รธน. พิจารณาปมการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% ว่าขัด รธน.หรือไม่
ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยวินิจฉัยเมื่อเดือน ก.ค. 2562 ว่า การที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องของนายสุทธิพร ประทุมเทวาพิทักษ์ กรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำสั่งรัฐบาลให้แก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) โดยเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ให้ถึง 51% ภายใน 10 ปี แต่รัฐบาลไม่สนใจ ยังปล่อยให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือแค่ 28.7% ในปัจจุบัน
เป็นไปได้ว่าความพยายามในการแปรรูป กฟผ.เมื่อปี 2548 ของรัฐบาลในสมัยนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนการแปรรูป กฟผ.ให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจดังเดิม จึงมีการเปลี่ยนมาใช้วิธีล้วงไส้ของ กฟผ.ด้วยการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นวิธีผ่องถ่ายกำไรไปให้เอกชน ใช่หรือไม่ ปัจจุบัน กฟผ.ผลิตไฟเหลือแค่ 28.7% แต่รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและต่างประเทศรวมกันแล้วเกือบ 70% ทั้งที่การผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มีต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่า แต่กลับมีการทำสัญญาซื้อไฟเอกชนที่แพงกว่า พร้อมด้วย ระบบประกันกำไรให้เอกชน ที่เรียกว่า Take or Pay คือ ไม่ว่าผลิตหรือไม่ผลิตก็ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ค่าไฟที่ซื้อเอกชนในราคาแพง และ ค่าความพร้อมจ่ายที่ต้องจ่ายเอกชนทั้งที่ไม่ได้ผลิตไฟ จะถูกผลักเข้ามาในค่า Ft เป็นภาระค่าไฟแพงให้ประชาชนแบกรับไว้ทั้งหมด
การที่นักการเมืองที่มาคุมกระทรวงพลังงานเดินหน้าซื้อไฟตามแผน PDP โดยไม่สนใจว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันมีถึงกว่า 50,000 MW แต่ความต้องการใช้แค่ 30,000 MW จึงมีสำรองไฟฟ้าถึง 53-54% (ทั้งที่ตามเกณฑ์มาตรฐานให้สำรองไฟได้สูงสุดที่ 15%) แต่ยังมีการทำสัญญาซื้อไฟอยู่ตลอด ซึ่งคือภาระที่บวกไว้ในค่า FT ที่ผลักให้ประชาชนต้องจ่ายทั้งสิ้น
กฟผ.ผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือแค่ 28.7% และจะลดลงเรื่อยๆ หากไม่มีการพิจารณาว่าตามรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลต้องกำกับให้รัฐวิสาหกิจของรัฐผลิตไฟไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ ที่จะเป็นความมั่นคงของรัฐและประชาชนในมิติของราคาค่าไฟที่เป็นธรรมต่อประชาชน และไม่ถูกผลักภาระให้ต้องอุ้มเอกชนตามการตัดสินใจของนักการเมืองอย่างไร้เหตุผล
จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่วันนี้ (21 ก.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคำร้องที่ นายสุทธิพร ประทุมเทวาพิทักษ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ. 2559 -2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำลงกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ประกอบมาตรา 3 วรรค 2 หรือไม่?
จึงขอให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟแพงติดตามการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแบบตาไม่กะพริบ