จากข้อมูล โครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) โดยองค์การยูนิเซฟและมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อุปสรรคหนึ่งของการเรียนรู้ นอกจากความยากจนแล้ว คือ “ภาษา” เด็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 40-50 % ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ เพราะใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน มีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง
โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงจัดทำโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพและการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ประจำปี 2564 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรินฎา ปุติ ประธานหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อพัฒนาผู้เรียนระดับปฐมวัยให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานพัฒนาการเด็ก มีความพร้อมในการพัฒนาการทุกด้าน แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่21และสร้างต้นแบบเครือข่ายการเรียนรู้ทางวิชาชีพของสถานศึกษาในระดับปฐมวัยและช่วงชั้นที่1จากการร่วมคิดร่วมทำของครูผู้สอนในโรงเรียนเครือข่ายโครงการฯ จำนวน 20 แห่ง โดยมีการอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยนวัตกรรมการอ่าน มีอาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ เป็นวิทยากร จนนำมาสู่การผลิตหนังสือชุด "ซูกอฮาตี มึมบาจอ" หรือ ชื่นใจเมื่อได้อ่าน จำนวน12 เรื่อง
รศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ซูกอฮาตี มึมบาจอ คืออีกหนึ่งผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนังสือ 12 ปก ผ่านกระบวนการวิเคราะห์การอ่านและการใช้ภาษาไทยของเด็กระดับปฐมวัยโดยครูในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานพัฒนาการเด็กและลดช่องว่างทางการศึกษา โดยเฉพาะหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สิ่งสำคัญคือ หนังสือชุดนี้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ วิถีชีวิตของท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ นับเป็นชุดหนังสือที่มีคุณค่าทางจิตใจสื่อให้เห็นถึงความเป็นตัวตน บนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม อันเป็นภารกิจหลักของสงขลานครินทร์”
ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากการสนับสนุนให้เกิดหนังสือภาพ หนังสือนิทานที่ช่วยให้เด็กเล็กเรียนรู้ความเป็นไปสถานการณ์ทางสังคมและเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาวะแล้ว การเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวจากท้องถิ่นโดยการออกแบบจากคนในท้องถิ่นเอง จะช่วยพัฒนาและกระตุ้นการเรียนรู้ได้มาก โดยเฉพาะหากครูหรือพ่อแม่ได้จูงเด็กๆ ออกจากหนังสือสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย”
หนังสือชุด "ซูกอฮาตีมึมบาจอ" รวบรวมคำจากบัญชีคำพื้นฐานที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยชั้นเด็กเล็ก มีจำนวน 242 คํา โดยการนําคำไปใช้แต่งหนังสือที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ วิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ คุณค่าทางจิตใจ มีนัยสำคัญเชิงวัฒนธรรมชุมชนในท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เป็นชุดหนังสือเฉพาะกิจที่มีจุดเด่นที่ใช้บริบทชุมชนเป็นฉากสำคัญ ทำให้ครูผู้สอนและผู้ปกครองเด็กปฐมวัยได้เรียนรู้ศัพท์ภาษาไทยอย่างรู้สึกใกล้ชิดกับวิถีชีวิตท้องถิ่นชายแดนใต้ และช่วยสร้างประสิทธิภาพการเรียนภาษาไทยให้เด็กปฐมวัย
พิธีเปิดตัวหนังสือ “ซูกอฮาตี มึมบาจอ : นวัตกรรมนิทานสร้างสรรค์จากภูมิพหุวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ณ หอประชุมชูเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การนำเสนอผลการนำร่องใช้ชุดหนังสือ “ซูกอฮาตี มึมบาจอ” การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้นิทานและออกแบบสื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย โดย อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ และอาจารย์ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์, การพัฒนากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ด้วย Stream Model สู่โรงเรียนโดย ผศ.ดร.สรินฏา ปุติ ฯลฯ ทั้งนี้สามารถรับชมถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ทางเพจ “อ่านยกกำลังสุข” และ “พลังอ่านชายแดนใต้ Southernmost Reading Power”
ผู้สนใจสามารถเปิดอ่านและดาวน์โหลดหนังสือชุด "ซูกอฮาตี มึมบาจอ" (ชื่นใจเมื่อได้อ่าน) รวมถึงนิทานสร้างเสริมภูมิคุ้มใจและสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน www.happyreading.in.th และเว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ www.earlychildhoodbookbank.com