xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.อานนท์” แชร์ภาพบางคณะยังกราบไหว้ครู “อดีตรองอธิการ มธ.” ชี้ ถ้าไม่เห็นคุณค่าก็เลิก อ้าง “แค่ธีมของงาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ พิธีไหว้ครู คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเครื่องกล #มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังเหมือนเดิม ขอบคุณภาพจากอาจารย์  @mcarthur_77
ม.อุบลฯ ถูกจับตา “เลิกกราบ” ในพิธีไหว้ครู “ดร.อานนท์” แชร์ภาพคณะวิศวะยังเหมือนเดิม “อดีตรองอธิการ มธ.” ชี้ เลิกดีกว่า สร้างวาทกรรม “ไพร่ทาส-เท่าเทียม” เปิดใจ “นายกองค์การ” แค่ธีมของงาน ไม่บังคับ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 มิ.ย. 65) ซึ่งเป็นวันที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดให้มีพิธีไหว้ครู และประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่า จะมีการยกเลิกหมอบกราบแบบวัฒนธรรมไพร่ทาส มาเป็นการไหว้แทน
แต่ปรากฏว่า เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ แชร์ภาพ และข้อความของ Annie Handicraft ระบุว่า

“#พิธีไหว้ครู คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเครื่องกล #มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วันนี้ ยังอบอุ่น และงดงามเหมือนเดิม”

ขอบคุณภาพจากอาจารย์ @mcarthur_77

ภาพ พิธีไหว้ครู คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเครื่องกล #มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอบคุณภาพจากอาจารย์  @mcarthur_77
ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ก็ได้แชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ระบุวา

“องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยกเลิกการหมอบกราบครูในพิธีไหว้ครู และให้ใช้การไหว้แสดงความเคารพแทน

เหตุผลก็คือ เพื่อความเสมอภาค สิทธิ ความเท่าเทียม เพราะการหมอบกราบสะท้อนความเป็นไพร่ ทาส ในสังคมไทย

ก่อนอื่นต้องไขข้อข้องใจเสียก่อน ว่า เหตุใดนักศึกษาจึงเป็นฝ่ายกำหนดได้ว่าจะให้มีการหมอบกราบหรือไม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่จะให้มหาวิทยาลัย หรืออาจารย์เป็นผู้จัดงานให้นักศึกษามาไหว้ตัวเอง ก็ดูจะประหลาดสักหน่อย มหาวิทยาลัยทุกแห่ง จึงมอบให้องค์การนักศึกษาเป็นฝ่ายจัดพิธีเพื่อจะไหว้ครู แต่ในระดับโรงเรียน ส่วนใหญ่ครูจะเป็นฝ่ายจัดพิธีไหว้ครู เนื่องจากเด็กนักเรียนอาจยังไม่มีขีดความสามารถพอที่จะจัดงานแบบนี้ได้เองเหมือนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

พิธีไหว้ครูที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เท่าที่จำได้ ประมาณปี 2522 ตัวแทนนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ นำพานพุ่มที่ทำเป็นรูปเต่า มามอบให้คณบดีในพิธีไหว้ครู ทำเอาท่านคณบดีอึ้งและงง เนื่องจากรูปเต่าย่อมหมายถึงการสื่อ ว่า คณะศิลปศาสตร์เป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี และในครั้งนั้น ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในมหาวิทยาลัย แต่ก็ได้ข้อสรุปซึ่งองค์การนักศึกษาในที่สุดก็ยอมรับว่า การจะสื่อความว่า คณะศิลปศาสตร์เป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี โดยเสรีภาพ นักศึกษาสามารถทำได้ในโอกาสอื่น แต่ไม่ใช่ในพิธีไหว้ครู เพราะเป็นการแสดงออกที่ผิดกาลเทศะ เรื่องนี้จึงจบลงด้วยดี

ด้วยเหตุนี้การที่องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะยกเลิกการหมอบกราบครูในพิธีไหว้ครู จึงเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่การอ้างเหตุผลว่า การหมอบกราบเป็นการสะท้อนความเป็นไพร่ทาสในสังคมไทย หรือทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เป็นการอ้างเหตุผลที่ทื่อด้านเกินไป เนื่องจากการหมอบกราบเป็นวัฒนธรรมไทยที่มีมาช้านาน และเป็นวัฒนธรรมไทยที่มีความงดงามอย่างยิ่ง คนไทยจะหมอบกราบเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่า หรือผู้ที่มีพระคุณที่มีวัยวุฒิสูงกว่า และในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ว่าจะหมอบกราบกันทุกวัน แต่จะทำกันในโอกาสพิเศษจริงๆ เท่านั้น

พิธีไหว้ครูเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูต่อครู ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณและมีวัยวุฒิสูงกว่า การหมอบกราบ จึงมีความเหมาะสมและงดงาม และเป็นการหมอบกราบเพียงปีละครั้ง มิได้ให้หมอบกราบกันทุกวัน ดังนั้น การหมอบกราบครูในพิธีไหว้ครู จึงไม่ได้สะท้อนความเป็นไพร่ทาสแต่อย่างใดเลย

ประการที่สอง ความเท่าเทียมกันที่อ้างก็เป็นอุดมคติ และไม่มีจริงในโลก เป็นเพียงวาทกรรมที่ใช้เป็นข้ออ้างต่างๆ ไม่มีประเทศใดในโลกที่ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าครูกับนักเรียนจะต้องเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง หากเป็นเช่นนั้น ครูให้นักเรียนทำการบ้าน นักเรียนก็สามารถปฏิเสธไม่ทำได้โดยไม่ต้องถูกลงโทษอย่างนั้นหรือ ความเท่าเทียมที่แท้จริงจึงไม่มีในโลก

ความจริงพิธีไหว้ครูซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อให้โอกาสนักเรียนและนักศึกษาแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สอนให้เป็นคนดี ควรมีขึ้นจากความสมัครใจของนักเรียนและนักศึกษา และความสมัครใจของครูอาจารย์ด้วย หากนักเรียนและนักศึกษาไม่ต้องการหมอบกราบในพิธีไหว้ครู ก็เป็นสิทธิของนักเรียนและนักศึกษา ในขณะเดียวกัน ครูอาจารย์ก็ควรมีสิทธิที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมในพิธีก็ได้เช่นเดียวกัน

ภาพ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr
หากในที่สุด ทั้งนักเรียนและนักศึกษา และครูอาจารย์ โรงเรียนใด มหาวิทยาลัยใด ไม่เห็นว่าพิธีนี้เป็นประโยชน์และไม่เห็นความสำคัญ ก็ควรเลิกพิธีไหว้ครูไปเสียเลย นักเรียนนักศึกษาคนใดอยากจะแสดงความกตัญญูต่อครู หรืออาจารย์ผู้สอน ก็ไปแสดงกันเองตามโอกาสและเวลาที่ตัวเองพอใจ ดีกว่ามาสร้างดรามา สร้างวาทกรรม เรื่องไพร่ทาส หรือความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะเป็นการทำลายความงดงามของวัฒนธรรมประเพณีไทย และทำลายความรู้สึกของครูเสียยิ่งกว่าการเลิกจัดพิธีไหว้ครูเสียอีก

อย่างไรก็ตาม นายสุประสิทธิ์ ชินวงษ์ นายกองค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ให้สัมภาษณ์กับ “บีบีซีไทย” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า จากการสังเกตการณ์พิธีกรรมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีที่ผ่านมา พบว่า "การหมอบกราบ" เป็นวัฒนธรรมในระบบไพร่ทาสเดิมในสังคมไทย จึงมีคำถามว่า สมควรจะเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมเช่นนี้หรือไม่

“ในการหมอบกราบนั้น เป็นเหมือนกับการน้อมรับสิ่งที่สังคมไทยถูกกดขี่มาโดยตลอด ดังนั้นจึงมองว่า ลองมาเป็นวัฒนธรรมจากการหมอบกราบมาเป็นการไหว้ไหม ซึ่งไม่ได้ลดทอนคุณค่าทางสังคมหรือคุณค่าทางวัฒธรรมนั้นลงเลย เพียงเป็นการเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเท่านั้น” นายกองค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ อธิบาย

เมื่อถามว่า มติขององค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ที่ออกมากระทบสิทธิของบุคคลอื่นหรือไม่ เขาตอบว่า ตามหลักการองค์การนักศึกษามีอำนาจมีสิทธิที่ประกาศเรื่องดังกล่าวโดยชอบธรรม เนื่องจากองค์การนักศึกษาเป็นตัวแทนของนักศึกษา ถ้าผู้ใดรู้สึกว่าได้รับผลกระทบในสิทธิก็สามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในระดับสภานักศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบองค์การนักศึกษาอีกที

“ภายในงาน เราไม่บังคับ (ผู้ร่วมงาน) ว่าจะกราบหรือจะไหว้ เพียงประกาศในธีมของงานที่ต้องการให้ไหว้ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมแบบใหม่ที่สร้างสรรค์และยังคงคุณค่าเดิมเอาไว้”

นอกจากนี้ บีบีซีไทย ยังเผยว่า ในแต่ละปีสำหรับงานพิธีไหว้ครูและบายศรีสู่ขวัญ มีนักศึกษารวมงานประมาณ 3,200-3,400 คน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทั้งหมด โดยปีนี้เริ่มต้นราว 12.00 น. นอกจากกิจกรรมทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีขบวนแห่ ขบวนฟ้อนนางรำ และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ของกลุ่มนักศึกษาคณะต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า จากแรงกดดันในสังคมและความกังวลใจของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่อเรื่องนี้ ทำให้เป็นที่มาของการประชุมหารือระหว่างอธิการบดีและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ร่วมกันองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และนายกสโมสรนักศึกษาแต่ละคณะเพื่อหาทางออกและแนวปฏิบัติ

ผลการสรุปของการหารือดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของสำนักงานพัฒนานักศึกษา ม.อุบลฯ ประกอบด้วย การแสดงความเคารพ เป็นสิ่งสะท้อนระบบความสัมพันธ์ที่เราแสดงออกต่อกันโดยไม่มีปราการกั้นของอายุ วัย ประสบการณ์ หรือสถานะ

ส่วนการแสดงออกถึงความเคารพนั้น เป็นการสื่อสารที่ละเอียดอ่อน หากนักศึกษาจะแสดงความเคารพ ไม่ว่าในแบบขนบเดิม หรือขนบใดย่อมเป็นในนามของ “ความเคารพ” ทั้งสิ้น

นายสุประสิทธิ์ กล่าวว่า เขาได้อธิบายต่อคณาจารย์ ว่า การเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้กระทบสิทธิผู้ใด แต่เป็นการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนไป และไม่ได้สร้างความเสียหายและยังคงคุณค่าวัฒนธรรมยังนำเสนอวัฒนธรรมแบบอีสาน และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน และสามารถสร้างผลกระทบเชิงความคิดต่อนักศึกษาที่สนใจเรื่องวัฒนธรรม

“บทสรุปในวงหารือกันในวันนั้น คือ ให้มองคนละครึ่งทาง โดยในวันงานจะไม่บังคับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งก็เป็นนโยบายของผมอยู่แล้ว เพราะเป็นสิทธิโดยชอบของนักศึกษาว่าจะกราบหรือจะไหว้” เขาอธิบาย

แน่นอน, สิ่งที่เกิดขึ้นใน ม.อุบลฯ ก็ไม่ต่างจากการเคลื่อนไหวของหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านวัฒนธรรม “ไพร่ทาส” รวมถึงโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ ซึ่งต้องการสร้างผลกระทบถึงอะไร วันนี้คนไทยน่าจะรู้ดีกันหมดแล้ว?

และวาทกรรมไพร่ทาส ความเท่าเทียม ก็เป็นสิ่งที่ม็อบ 3 นิ้ว หรือ ขบวนการ “3 นิ้ว” หยิบยกขึ้นมา เป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ยอมรับวัฒนธรรมไทย ที่มีการเคารพกราบไหว้ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณอยู่แล้ว

จึงแทบไม่ต้องสงสัยว่า งานนี้ถึงคิว ม.อุบลฯ ที่ต้องแสดงออกใน “เชิงสัญลักษณ์” และทำให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีคนจำนวนหนึ่ง คิดอย่างไรกับกระแสความเคลื่อนไหวของ ขบวนการ “3 นิ้ว” นั่นเอง หรือว่าไม่จริง!?


กำลังโหลดความคิดเห็น