xs
xsm
sm
md
lg

“รศ.หริรักษ์” แนะยกเลิกพิธีไหว้ครูหากสถาบันศึกษาใดไม่เห็นคุณค่า อย่าเก่งแต่ปั่นดรามา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงดรามายกเลิกการหมอบกราบครูในพิธีไหว้ครู และให้ใช้การไหว้แสดงความเคารพแทน แนะให้ยกเลิกไปเสียหากไม่เห็นคุณค่าของพิธีดังกล่าว อย่าเก่งแต่ปั่นดรามา ชี้ พิธีไหว้ครูเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูต่อครูซึ่งเป็นผู้มีพระคุณและมีวัยวุฒิสูงกว่า การหมอบกราบจึงมีความเหมาะสม

จากกรณี "องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า "ยกเลิกการหมอบกราบ งานพิธีไหว้ครู/บายศรีสู่ขวัญ โดยยกเลิกการหมอบกราบ” เปลี่ยนเป็นการ “ไหว้” องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีนโยบายส่งเสริมความเสมอภาค สิทธิ ความเท่าเทียม ที่แฝงไปด้วยความเคารพ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การหมอบกราบที่สะท้อนถึงระบบไพร่ทาสในสังคมไทย เพราะคนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ล่าสุดวันนี้ (30 มิ.ย.) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Harirak Sutabutr" เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยได้ระบุข้อความว่า

"องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยกเลิกการหมอบกราบครูในพิธีไหว้ครู และให้ใช้การไหว้แสดงความเคารพแทน เหตุผลก็คือ เพื่อความเสมอภาค สิทธิ ความเท่าเทียม เพราะการหมอบกราบสะท้อนความเป็นไพร่ ทาส ในสังคมไทย

ก่อนอื่นต้องไขข้อข้องใจเสียก่อนว่า เหตุใดนักศึกษาจึงเป็นฝ่ายกำหนดได้ว่าจะให้มีการหมอบกราบหรือไม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่จะให้มหาวิทยาลัยหรืออาจารย์เป็นผู้จัดงานให้นักศึกษามาไหว้ตัวเองก็ดูจะประหลาดสักหน่อย มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงมอบให้องค์การนักศึกษาเป็นฝ่ายจัดพิธีเพื่อจะไหว้ครู แต่ในระดับโรงเรียนส่วนใหญ่ครูจะเป็นฝ่ายจัดพิธีไหว้ครู เนื่องจากเด็กนักเรียนอาจยังไม่มีขีดความสามารถพอที่จะจัดงานแบบนี้ได้เองเหมือนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

พิธีไหว้ครูที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เท่าที่จำได้ ประมาณปี 2522 ตัวแทนนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์นำพานพุ่มที่ทำเป็นรูปเต่ามามอบแก่คณบดีในพิธีไหว้ครู ทำเอาท่านคณบดีอึ้งและงง เนื่องจากรูปเต่าย่อมหมายถึงการสื่อว่า คณะศิลปศาสตร์เป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี และในครั้งนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในมหาวิทยาลัย แต่ก็ได้ข้อสรุปซึ่งองค์การนักศึกษาในที่สุดก็ยอมรับว่า การจะสื่อความว่าคณะศิลปศาสตร์เป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี โดยเสรีภาพ นักศึกษาสามารถทำได้ในโอกาสอื่นแต่ไม่ใช่ในพิธีไหว้ครู เพราะเป็นการแสดงออกที่ผิดกาลเทศะ เรื่องนี้จึงจบลงด้วยดี

ด้วยเหตุนี้ การที่องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะยกเลิกการหมอบกราบครูในพิธีไหว้ครู จึงเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่การอ้างเหตุผลว่าการหมอบกราบเป็นการสะท้อนความเป็นไพร่ทาสในสังคมไทย หรือทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เป็นการอ้างเหตุผลที่ทื่อด้านเกินไป เนื่องจากการหมอบกราบเป็นวัฒนธรรมไทยที่มีมาช้านาน และเป็นวัฒนธรรมไทยที่มีความงดงามอย่างยิ่ง คนไทยจะหมอบกราบเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่า หรือผู้ที่มีพระคุณที่มีวัยวุฒิสูงกว่า และในปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าจะหมอบกราบกันทุกวัน แต่จะทำกันในโอกาสพิเศษจริงๆ เท่านั้น

พิธีไหว้ครูเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูต่อครูซึ่งเป็นผู้มีพระคุณและมีวัยวุฒิสูงกว่า การหมอบกราบจึงมีความเหมาะสมและงดงาม และเป็นการหมอบกราบเพียงปีละครั้ง มิได้ให้หมอบกราบกันทุกวัน ดังนั้นการหมอบกราบครูในพิธีไหว้ครูจึงไม่ได้สะท้อนความเป็นไพร่ทาสแต่อย่างใดเลย

ประการที่สอง ความเท่าเทียมกันที่อ้างก็เป็นอุดมคติ และไม่มีจริงในโลก เป็นเพียงวาทกรรมที่ใช้เป็นข้ออ้างต่างๆ ไม่มีประเทศใดในโลกที่ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าครูกับนักเรียนจะต้องเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง หากเป็นเช่นนั้น ครูให้นักเรียนทำการบ้าน นักเรียนก็สามารถปฏิเสธไม่ทำได้โดยไม่ต้องถูกลงโทษอย่างนั้นหรือ ความเท่าเทียมที่แท้จริงจึงไม่มีในโลก

ความจริงพิธีไหว้ครูซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อให้โอกาสนักเรียนและนักศึกษาแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สอนให้เป็นคนดี ควรมีขึ้นจากความสมัครใจของนักเรียนและนักศึกษา และความสมัครใจของครูอาจารย์ด้วย หากนักเรียนและนักศึกษาไม่ต้องการหมอบกราบในพิธีไหว้ครู ก็เป็นสิทธิของนักเรียนและนักศึกษา ในขณะเดียวกันครูอาจารย์ก็ควรมีสิทธิที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมในพิธีก็ได้เช่นเดียวกัน

หากในที่สุดทั้งนักเรียนและนักศึกษา และครูอาจารย์ โรงเรียนใด มหาวิทยาลัยใดไม่เห็นว่าพิธีนี้เป็นประโยชน์และไม่เห็นความสำคัญ ก็ควรเลิกพิธีไหว้ครูไปเสียเลย นักเรียนนักศึกษาคนใดอยากจะแสดงความกตัญญูต่อครูหรืออาจารย์ผู้สอน ก็ไปแสดงกันเองตามโอกาสและเวลาที่ตัวเองพอใจ ดีกว่ามาสร้างดรามา สร้างวาทกรรม เรื่องไพร่ทาส หรือความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะเป็นการทำลายความงดงามของวัฒนธรรมประเพณีไทย และทำลายความรู้สึกของครูเสียยิ่งกว่าการเลิกจัดพิธีไหว้ครูเสียอีก"
กำลังโหลดความคิดเห็น