xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ ตำรวจ-สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีจับกุมคดีค้าประเวณี นำผู้ต้องหา-จำเลยมาแถลงข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม. ชี้ ตำรวจ-สื่อ ละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีจับกุมคดีค้าประเวณี การนำผู้ต้องหา-จำเลยมาแถลงข่าว ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

วันนี้ (30 มิ.ย.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนในปี 64 ต่อเนื่องถึงปี 65 รวม 9 คำร้อง จากประชาชนผู้พบเห็นข่าวออนไลน์กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ จับกุม หรือควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา หรือผู้ตกเป็นข่าว เช่น ในการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ หรือจัดแถลงข่าว มีการให้สื่อมวลชนนำข่าวไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยไม่เบลอภาพ ไม่ปกปิดชื่อสกุล ไม่ปกปิดอัตลักษณ์ของผู้ต้องหา หรือปรากฏภาพผู้ต้องหาในขณะถูกใส่เครื่องพันธนาการ และยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพในสถานที่จับกุม ซึ่งผู้ถูกจับกุมเป็นเด็กหญิง ผู้หญิง หรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งบางรายขณะถูกจับกุมมีการแต่งกายในสภาพที่ไม่เหมาะสม ทั้งในข่าวยังมีการใช้ถ้อยคำในลักษณะเหมารวมที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่ง กสม.ได้แยกประเด็นพิจารณาแล้วเห็นว่า

ในส่วนของการจัดให้มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับปฏิบัติการตรวจค้น จับกุมตามคำร้อง แม้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้นำหรืออนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม และล่อซื้อประเวณี แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทั้งการแถลงข่าวการจับกุมโดยหน่วยงานของรัฐและการนำเสนอข่าวออนไลน์โดยสื่อมวลชน มีการเผยแพร่ภาพบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวโดยมีลักษณะเป็นภาพเปลือยกายท่อนบน หรือภาพที่ไม่เหมาะสม แม้จะมีการปกปิดด้วยการเบลอภาพหรือวิธีอื่นใด แต่การกระทำเช่นนั้นย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการจับกุมและควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องกระทำโดยละมุนละม่อม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชนด้วย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐควรคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในมิติทางเพศ (Gender Sensitivity) โดยในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่เป็นหญิงหรือเด็กหญิงควรกระทำโดยเจ้าหน้าที่หญิงมิใช่เจ้าหน้าที่ชาย ซึ่งหน่วยงานของรัฐควรจัดกำลังเจ้าหน้าที่โดยคำนึงสัดส่วนหญิงชายด้วย

 


ส่วนการควบคุมตัวผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ กสม.เห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่หลายกรณีเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ คำสั่ง หรือแนวปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เช่น การไม่กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ โดยวางแนวกั้นตำรวจ/แถบกันที่เกิดเหตุ (POLICE LINE) เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนและประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว การไม่ห้ามสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าวขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ การนำผู้ต้องหาไปขอขมาต่อญาติของผู้เสียชีวิตซึ่งขัดต่อคำสั่งของ สตช. การจัดเตรียมเอกสารประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยปรากฏทั้งชื่อและสกุล หรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ล่วงรู้ตัวตนของผู้ต้องหาหรือคนในครอบครัว และการละเลยให้มีการถ่ายภาพข่าวในขณะผู้ต้องหาอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในสถานีตำรวจ หรือการถ่ายภาพของผู้เสียหายในขณะยืนชี้ตัวผู้ต้องหา เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องหรือเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนดไว้ รวมทั้งหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในคดีอาญาที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จึงเป็นการกระทำที่เกินสัดส่วนกับเหตุผลความจำเป็น อาจทำให้บุคคลได้รับความเสียหาย และกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ต้องหา ผู้เสียหาย กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือผู้เกี่ยวข้อง เห็นว่า กรณีตามคำร้องมีการนำเสนอภาพของผู้เสียหายโดยไม่ได้เบลอภาพ และไม่ได้ดำเนินการแจ้งขออนุญาตเพื่อทำการบันทึกภาพของผู้เสียหายก่อนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทั้งยังปรากฏว่า สื่อบางแห่งไม่ปกปิดชื่อสกุลของญาติผู้เสียชีวิต และยังมีการเสนอภาพของเด็กผู้เสียหายซึ่งแม้จะมีการเบลอภาพแล้ว แต่อาจส่งผลให้เด็กรู้สึกว่าเป็นผู้กระทำผิดจนนำไปสู่การตีตราตนเองในที่สุด เช่นเดียวกับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ต้องหา ที่มีการนำเสนอข่าวโดยไม่เบลอภาพและแจ้งชื่อสกุลของผู้ต้องหา การนำเสนอภาพเครื่องพันธนาการและใบหน้าของผู้ต้องหา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนขาดความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ต้องหา นอกจากนี้ ยังมีหลายกรณีที่สื่อมวลชนใช้ถ้อยคำที่กระทบต่ออัตลักษณ์และทำให้เกิดอคติทางลบต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเช่นนี้ จึงถือเป็นการใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารที่เกินสัดส่วนกับเหตุผลความจำเป็นไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด อันส่งผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียง และขัดต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกันจากเหตุดังกล่าว กสม.จึงมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เป็นไปตามหลักและแนวปฏิบัติ เช่น กำชับการปฏิบัติงานให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เกี่ยวข้องในคดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหา ผู้เสียหาย ผู้เสียชีวิต พยาน โดยเคร่งครัด กำชับห้ามไม่ให้นำสื่อมวลชนเข้าไปในสถานที่ตรวจค้นและจับกุมคดีค้าประเวณี ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนเข้าไปในขณะให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ตลอดจนกำกับดูแลการปฏิบัติในการวางแนวกั้นตำรวจ/แถบกันที่เกิดเหตุ (POLICE LINE) เพื่อแบ่งแยกพื้นที่เฉพาะในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนออกจากพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนและประชาชนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ให้มีการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนหลักปฏิบัติและแนวปฏิบัติตามกระบวนการลงโทษทางวินัยด้วย

 


ขณะที่ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องกำกับดูแลกันเองและส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมและแนวปฏิบัติ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกันกำหนดขึ้น โดยออกหนังสือเวียนและเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในเรื่องสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศ เช่น การแจ้งขออนุญาตบุคคลที่ตกเป็นข่าว และการหลีกเลี่ยงไม่ถ่ายภาพหรือนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กทุกกรณี รวมทั้งหนังสือเวียนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติหรือคู่มือที่มีอยู่ ได้แก่ แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. 2564 แนวปฏิบัติการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ คู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรือแนวปฏิบัติอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ปฏิบัติจริง

ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ควรพิจารณากำหนดแนวปฏิบัติในการให้ความคุ้มครองหรือลบข้อมูลส่วนบุคคล ในกรณีการนำเสนอข่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ และชื่อเสียงของบุคคลที่ตกเป็นข่าวและคนในครอบครัว โดยอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 16(3) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานองค์การสาธารณกุศล ควรกำกับดูแลให้ผู้ปฏิบัติการกู้ภัยและอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่อย่างเคารพต่อผู้ประสบภัย โดยต้องไม่ถ่ายภาพอันไม่เหมาะสมอันอาจนำไปสู่การเผยแพร่ต่อสาธารณะ และมีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อผู้ปฏิบัติการกู้ภัยและอาสาสมัครที่ฝ่าฝืนคู่มือแนวทางปฏิบัติการกู้ภัยของกรมฯ หรือขององค์การสาธารณกุศลที่สังกัด และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ควรกำหนดแนวปฏิบัติให้เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวน หรือสอบสวนต้องแจ้งให้ประชาชนที่อยู่ร่วมด้วยในขณะปฏิบัติหน้าที่รับทราบข้อปฏิบัติและข้อควรระวังที่พึงหลีกเลี่ยงในการบันทึกและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ในขณะที่มีปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม หรือการดำเนินการอื่นใด


กำลังโหลดความคิดเห็น