ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จี้รัฐบาลแจงแผนสำรองรับมือปัญหาพลังงาน-อาหาร ไม่มั่นใจฝีมือ “สมช.” เขียนแผนแก้วิกฤตพลังงาน ด้าน “อาคม” รับ “สมช.” ต้องหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจด้านอื่นเพิ่มเติม
วันนี้ (30 มิ.ย.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงาน และค่าครองชีพ โดย พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงแทน
ทั้งนี้ นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตพลังงานที่พุ่งสูงถึง 30% และต้องใช้งบประมาณเยียวยากว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การช่วยเหลือและแก้วิกฤตพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ควรพิจารณาการช่วยเหลือแบบตรงจุด ไม่ใช่เหมารวมผู้ใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด เพราะปัจจุบันพบว่ามีผู้ใช้รถเบนซ์ที่ใช้น้ำมันดีเซลได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกัน การใช้น้ำมันของกลุ่มเปราะบาง 4.3 ล้านคนเป็นคนจน ใช้น้ำมันเบนซิน ดังนั้น หากสถานการณ์ยืดเยื้อรัฐบาลมีแผนสำรองเพื่อแกัปัญหาหรือไม่ ขณะเดียวกัน กรณีที่รัฐบาลตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช. ) ดูแลแผนแก้วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร ตนสงสัยในความเชี่ยวชาญในการวางแผนและแก้ปัญหา เนื่องจากไม่พบว่ามี รมว.พลังงาน หรือ รมว.พาณิชย์ เป็นคณะทำงาน
ด้าน นายอาคม กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลมีแผนและมาตรการช่วยเหลือประชาชนผ่านเครื่องมือทางการคลัง เช่น ลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาขนส่ง ค่าครองชีพ นอกจากนั้น จะมีมาตรการพยุงราคาและตรึงราคา สำหรับการเจรจากับโรงกลั่นต่อการลดค่าการกลั่นนั้น คาดว่า 1-2 วันนี้ จะมีความก้าวหน้า ในภาวะปกติไม่เคยมีการขึ้นราคา แต่ในภาวะช็อกแบบนี้ต้องพิจารณาถึงการปรับราคา นอกจากนั้น ยังมีมาตรการที่ต้องดำเนินการ ทั้งประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน สำหรับข้อเสนอต่อการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มนั้นเป็นสิ่งที่ผมจะกลับไปคิด
ส่วนกรณีการให้ สมช.ดูแลแผนแก้วิกฤตพลังงานและอาหารนั้น สมช.เป็นหน่วยงานความมั่นคง ทั้งมั่นคงของประเทศ การทหาร เศรษฐกิจและสังคม สำหรับประเด็นเศรษฐกิจนั้นอาจเป็นอย่างที่กล่าวว่าจะมีความเชี่ยวชาญหรือไม่ ดังนั้น อาจต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ มากกว่า ตนเชื่อว่า สมช.จะแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานต่างและจะได้รับความร่วมมือ ขณะนี้นายกฯมอบหมายให้ สมช. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรการทั้งหมด ไม่เฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ครอบคลุมเรื่องพลังงาน และอาหาร ที่ผ่านมาประชุมแล้ว 2 ครั้งเข้าใจว่าน่าจะมีข่้อสรุปและมาตรการต่างๆ เสนอแนะ นายกฯต่อไป รวมถึงแผนหนึ่งแผนสอง ยกกระดับแผนแต่ละเรื่องอะไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในตอนท้ายของการถามกระทู้สดด้วยวาจาของนายพิธาได้ตั้งคำถามถึงการเลื่อนโครงการจัดหารถโดยสารประจำทางที่ใช้ไฟฟ้าออกไป เพราะต้องรอสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา โดย นายอาคม ยอมรับว่าโครงการดังกล่าวต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการจัดหารถโดยสารประจำทางที่ใช้ไฟฟ้ามาแทนรถประจำทางเอ็นจีวีต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ อย่างไรก็ตาม นายพิธา ได้กล่าวชวนนายอาคม ว่า ให้ลองใช้รถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ทราบถึงปัญหา โดยหลังเลิกประชุมสภา ตนจะใช้บริการรถโดยสารประจำทางเดินทางจากรัฐสภากลับบ้านด้วย