xs
xsm
sm
md
lg

จับ “บก.ฟ้าเดียวกัน” เพจดังเผย ข้อหา เปิดเผยความลับของประเทศ “ดร.นิว” ชี้ ภัย “ไม่สร้างอธิปไตยไซเบอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายธนาพล อิ๋วสกุล น้องคนสนิท นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บก.ฟ้าเดียวกัน ขอบคุณข้มูล-ภาพ เพจเฟซบุ๊ก The METTAD
ทวิตเตอร์ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ” แจ้งข่าวด่วน! ตำรวจ ปอท.บุกรวบ “บก.ฟ้าเดียวกัน” เพจดังระบุ ข้อหาเปิดเผยความลับของประเทศ “ดร.นิว” ชี้ มหันตภัยของประเทศเกิดจาก “ประยุทธ์” ไม่สร้างอธิปไตยไซเบอร์

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (29 มิ.ย.65) ทวิตเตอร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ภาพและข้อความว่า

ด่วน! เวลา 16.15 น. ตำรวจ ปอท. เข้าแสดงหมายจับ ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตอนนี้ยังไม่รู้ว่า เป็นหมายจับจากเหตุใด

เวลา 16.28 น. ขณะนี้ บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน กำลังถูกนำตัวไป บก.ปอท. ภาค 3

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นมาที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยต้องการค้นหาหนังสือ “สถาบันพระมหากษัตริย์ กับสังคมไทย” (คำปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา) รวมถึงยึดอุปกรณ์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ของ นายธนาพล อิ๋วสกุล น้องคนสนิท นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก “ฟ้าเดียวกัน” วารสารที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แจ้งข่าวยุติการทำวารสารฟ้าเดียวกัน โดยระบุว่า ขาดแคลนบทความต้นฉบับ (จากไทยโพสต์)

อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดกำเนิดของ “ฟ้าเดียวกัน” นายธนาพล อิ๋วสกุล เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า

“ปกติผมก็เป็นคนอ่านหนังสืออยู่บ้าง และมีความคิดที่จะทำหนังสืออยู่ในหัวมาตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา พอเรียนจบมา ช่วงนั้นเป็นวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯ เราก็ไปช่วยเขาทำหนังสือ เป็นฝ่ายหาข้อมูล แล้วก็ช่วยทำนิทรรศการบ้าง ทีนี้ช่วงประมาณปี 2542-2543 อ.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ตอนนั้นแกอยู่ที่สถาบันพัฒนาการเมือง แกก็ชวนเราไปทำหนังสือ เป็นช่วงที่ได้เจอ ชัยธวัช ตุลาธน เป็นรุ่นน้องนักศึกษา ซึ่งชัยธวัชก็เป็นเพื่อนกับธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) อีกที พอผ่านไปสักพัก ก็มีความคิดว่าจะทำวารสารกัน

โมเดลที่จะทำ ฟ้าเดียวกัน ในตอนนั้น ประมาณปี 2544 คุยกันสามคน มีผม ชัยธวัช และ ธนาธร ไปคุยกันที่ตึกช้าง ก็นั่งวางแผนกัน คุยโมเดลธุรกิจกันเรียบร้อยว่า ภายในหนึ่งปี จะทำอะไรยังไงได้บ้าง จนกระทั่งได้มาทำจริงๆ คือ ช่วงเดือนตุลาคม 2545 ตอนนั้นผมกับชัยธวัชออกจากงาน ส่วนธนาธรก็เริ่มไปดูแลธุรกิจของเขาแล้ว

ถามว่า โมเดลที่ว่า เป็นยังไง
“โมเดลธุรกิจที่วางไว้มีอยู่สามขา ขาแรกคือขาสำนักพิมพ์ วิธีคิดในการทำสำนักพิมพ์ของเรา คือ แทนที่จะไปดูว่าใครประสบความสำเร็จ เราก็ไปดูว่าใครเจ๊งบ้าง ดูให้รู้ว่าเจ๊งเพราะอะไร เฮ้ย อันนี้เจ๊งเพราะขาดเงิน อันนี้เลิกทำเพราะสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยน หรือบางทีคนทำก็หมดแพชชั่น เราไปไล่ดูตัวอย่างเหล่านี้เพื่อที่จะไม่เดินตามรอยนั้น ในขาแรกนี้เราประเมินไว้แล้วว่า ถ้าไม่กำไรก็ไม่เป็นไร คือกำไรก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่แปลกใจ

ขาที่สอง มาจากการที่เราสามคนก็เป็นแอคทิวิสต์กันมาก่อนอยู่แล้ว เราเรียกขานี้ว่า การหนุนเสริมการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ถามว่าทำอะไรบ้าง ก็อย่างเช่น เวลามีประท้วง มีชุมนุม ถ้ามีใครขอให้ช่วย เราก็ไปช่วยทำทุกอย่างที่เป็นสื่อ

ส่วนขาที่สาม คือ ทำธุรกิจ ไล่ตั้งแต่การทำหนังสือที่เราถนัดกันอยู่แล้ว เริ่มจากพื้นฐานอย่างการรับจ้างจัดเลย์เอาต์ ไปจนถึงการรับเหมาทำทั้งเล่มเลย อีกอย่างที่รับทำ ก็คือ นิทรรศการ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเนื้อหา อาศัยว่า ก่อนหน้านั้น ผมเคยรับทำนิทรรศการให้หลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ที่บึงกุ่ม

นี่คือ สามขาทางธุรกิจ ที่ทำให้ฟ้าเดียวกันอยู่ได้ ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ถ้าเอาแค่ขาของการทำหนังสือจริงๆ มันอยู่ไม่ได้หรอก พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่ทำมา ไม่เคยมีปีไหนที่อยู่ได้ด้วยการทำหนังสือล้วนๆ เลย” (https://www.the101.world/thanapol-eawsakul-interview/)

ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพที่มีคำตอบเกี่ยวกับข้อหาที่ บก.ฟ้าเดียวกันโดนจับ พร้อมระบุว่า

“ขอให้สุขคารัง
#เสพธนาพล”

ภาพ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ระบุว่า

“การที่ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ไม่ลงมือสร้างอธิปไตยไซเบอร์ (Cyber sovereignty) รวมถึงการมี รมว.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ไร้น้ำยา เป็นสาเหตุประการสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่หลวงในปัจจุบัน อีกทั้งยังส่งผลให้ประเทศชาติและประชาชนตกอยู่ภายใต้มหันตภัยของการถูกชี้นำและครอบงำทางความคิด ตลอดจนถูกแทรกแซงความมั่นคงจากทั้งในและนอกประเทศ ผ่านขบวนการปั่นกระแสบิดเบือนโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธ (The weaponization of social media)”

ภาพ กลุ่ม 3 นิ้ว บุกร้องช่วยเพื่อนเรา ต่อส.ส.ก้าวไกล ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากสยามรัฐออนไลน์
นอกจากนั้น วันนี้ที่รัฐสภา กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ นำโดย น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน อดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา นางปุณิกา ชูศรี หรือ อร อดีตผู้ต้องขัง และ น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา แกนนำกลุ่มราษฎร เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ภายหลังมีนักกิจกรรมพยายามฆ่าตัวตายช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมจี้คืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขัง โดยมี นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขาธิการกมธ. เป็นตัวแทนรับเรื่อง

โดย น.ส.ณัฎฐธิดา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นรุ่นพี่ที่ถูกฝากขังพิจารณาคดีนานที่สุดคนหนึ่ง จึงมีความประสงค์ที่จะยื่นหนังสือต่อนางอมรัตน์ ในฐานะ ส.ส.ที่เป็นความหวังของชาวคุกทุกคน โดยทางกลุ่มต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากผู้เข้าเยี่ยมต้องมีรายชื่อหนึ่งใน 10 คนเท่านั้น แต่ตนในฐานะเพื่อนที่ไม่ใช่ญาติจึงไม่สามารถเยี่ยมได้ จึงต้องการเรียกร้องสิทธิในข้อนี้เพื่อให้สามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนแทนญาติที่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมได้ รวมถึงสิทธิในการประกันตัว เพื่อออกมาต่อสู้คดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงหวังว่าสิ่งที่มายื่นในวันนี้จะทำให้กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ สามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนทุกคนที่อยู่ในเรือนจำในขณะนี้ได้ และขอเรียกร้องความเสมอภาค และยกเลิกสวนสัตว์มนุษย์ในเรือนจำ เนื่องจากเงินบริหารในเรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่มาจากประชาชน จึงขอให้ใช้อย่างสมเหตุสมผล

ด้าน นางปุณิกา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีชายชุดดำที่ถูกฝากขังในเรือนจำถึง 2 ปี 7 เดือน จึงอยากเรียกร้องสิทธิความเป็นอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขอนามัย การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งการที่จะได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์เป็นเรื่องที่ยาก โดยด้านในเรือนจำยังเป็นระบบที่จะต้องตะโกนเรียกผู้คุม เพื่อให้มาดูแลเราในตอนที่เราเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งกว่าจะเรียกได้บางทีก็สายเกินไป คิดว่าควรเปลี่ยนให้มีการติดสัญญาณที่สามารถเรียกผู้คุมได้ ทั้งนี้ในการติดกล้องวงจรปิด ติดเครื่องสแกนตัวยังสามารถทำได้ แต่เพราะอะไรจึงไม่สามารถติดกริ่งเพื่อจะกดเรียกเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้ป่วย

ขณะที่ น.ส.วรรณวลี กล่าวว่า กรณีของ นายพลพล จิตรสุภาพ สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่ถูกคุมขังพยายามฆ่าตัวตายโดยการรับประทานยาพาราเซตามอล 60 เม็ด ก่อนถูกนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น รวมถึงมีการกรีดข้อมือตัวเองด้วย ซึ่งเมื่อได้รับข่าวก็ถือว่าเป็นการล่าช้ามาก เพราะเหตุเกิดขึ้นไปแล้ว 2-3 วันแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์และกรมราชทัณฑ์ กลับไม่ได้มีการแจ้งญาติและทนายให้ทราบ

จึงตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ ว่า มีการพยายามปกปิดข้อมูลในส่วนนี้หรือไม่ รวมถึงมีความสงสัยในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสืบสวนจนถึงชั้นศาลที่มีการฝากขัง คือ กรณีที่มีการฝากขังโดยที่เจ้าตัวเข้าไปมอบตัว และรายงานตัวด้วยตัวเอง แต่กลับถูกศาลอนุญาตให้ฝากขังได้ ซึ่งสงสัยในชั้นสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังไปแจ้งข้อกล่าวหากับตนเองใช่หรือไม่ รวมถึงศาลได้ดูเหตุผลและหลักฐานก่อนจะออกหมายจับหรือไม่

“จึงอยากฝาก ส.ส.อมรัตน์ และพรรคก้าวไกล ให้ช่วยกันตรวจสอบ เพราะประชาชนไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าไปดูผู้ต้องขังได้ เราต้องอาศัย ส.ส.ในสภาที่เป็นผู้มีอำนาจจากที่ประชาชนเป็นคนเลือกขึ้นมา และไม่เล็งเห็นเลยว่าจะมีหน่วยงานไหน ที่กล้าจะออกมารับเรื่องเช่นนี้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ นายใบบุญ ไทยพานิช หรือ โอม ที่ใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนเป็นทางยาว ซึ่งเมื่อมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาล ได้มีการใส่ถุงมือยาวทั้งแขน จึงสงสัยว่า ราชทัณฑ์พยายามจะปกปิดเรื่องนี้หรือไม่ ทำไมจึงให้น้องใส่ถุงมือ” น.ส.วรรณวลี กล่าว

ทั้งนี้ นางอมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะเลขาธิการ กมธ. จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมภายในวันนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ทำร้ายตัวเองของนักกิจกรรมทางการเมืองมีลักษณะปิดข่าวจากกรมราชทัณฑ์ โดยเหตุการณ์เกิดตั้งแต่วันศุกร์ แต่โลกภายนอกกว่าจะรู้เรื่อง คือ วันจันทร์ หากเกิดรุนแรงมากกว่านี้ ใครจะสามารถช่วยได้ทัน จึงขอให้กรมราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมทบทวนแนวทาง เรื่องการกำหนดคนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในดุลยพินิจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมา มีการใช้ข้ออ้างเรื่องโควิดในการจำกัดการเข้าเยี่ยม ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายและกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น กฎเกณฑ์จึงควรผ่อนคลายได้ อย่าให้โลกประณามไปมากกว่านี้ ว่า ประเทศไทยมีการนำกฎหมายอาญา ม.112 และระเบียบเรือนจำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือจัดการนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่าง...

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การบุกจับกุม บก.ฟ้าเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นข้อหา เปิดเผยความลับของประเทศ อย่างที่เพจดังเปิดเผย ก็นับว่าน่าจับตามอง การแถลงข่าวของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ได้พยานหลักฐานในการบุกจับกุมครั้งนี้อย่างไร และถ้าหลักฐานไม่แน่นจริง ศาลคงไม่อนุมัติออกหมายจับ?

และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ การจับกุมครั้งนี้จะขยายผลนำไปสู่บุคคลอื่นด้วยหรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า บก.ฟ้าเดียวกัน มีทัศนะทางการเมืองที่สนับสนุน ม็อบ 3 นิ้ว และการปฏิรูปสถาบันฯอย่างชัดเจน

แต่ทั้งหมดต้องรอให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่แถลงข่าว จึงจะยืนยันได้ว่า การจับกุมครั้งนี้สาเหตุมาจากอะไร ข้อหาอะไร...?


กำลังโหลดความคิดเห็น