xs
xsm
sm
md
lg

“ราชทัณฑ์” ตั้งกรรมการสอบ-ดูแลสุขภาพจิต “ ทะลุแก๊ซ” หลังทำร้ายตัวเองในคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เร่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” กินยาเกินขนาด-กรีดข้อมือตัวเอง เบื้องต้นเกิดจากความเครียด ให้นักจิตวิทยาเข้าพูดคุย

วันนี้ (28 มิ.ย.) นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณีผู้ต้องขังกลุ่มทะลุแก๊ซ รับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด รวมถึงการทำร้ายตัวเองด้วยของมีคม ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าว จำนวน 3 ราย ได้แก่ ข.ช.ใบบุญ ไทยพาณิช และ ข.ช.พุฒิพงศ์ สมบุญ ได้ทำร้ายตัวเองด้วยการนำของมีคมกรีดข้อมือตนเอง พร้อมด้วย ข.ช.พลพล จิตรสุภาพ รับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด เป็นเหตุต้องนำส่งไปรักษาตัวยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.

นายอายุตม์ เผยว่า โดยอาการเบื้องต้น ณ วันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ข.ช.พลพล มีอาการดีขึ้น รู้สึกตัวได้ดี พูดคุยรู้เรื่อง ช่วยเหลือตัวเองได้ ยังรับประทานอาหารได้มากขึ้น ไม่มีอาการปวดท้อง แต่ยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย นอนหลับได้ อาการเครียดดีขึ้นตามลำดับ อยู่ระหว่างการรักษาสังเกตอาการใกล้ชิด จากการสอบถามโดยนักจิตวิทยา ข.ช.พลพล แจ้งว่า สาเหตุจากการกระทำดังกล่าว เกิดจากความเครียดในเรื่องส่วนตัว เนื่องจากเป็นห่วงภรรยาที่ตั้งครรภ์ และเรื่องคดีความของตน แต่ก็จะพยายามปรับตัว ไม่คิดมากให้เกิดความเครียดอีก

“ในส่วนของ ข.ช.ใบบุญ และ ข.ช.พุฒิพงศ์ ที่ได้ทำร้ายตัวเองด้วยการนำของมีคมกรีดข้อมือตนเองนั้น พบว่า มีบาดแผล แต่ไม่รุนแรง พยาบาลประจำเรือนจำได้ทำการรักษาล้างแผลให้ทุกวัน โดยสาเหตุของการกระทำดังกล่าว แจ้งว่า เกิดจากความกังวลเรื่องทนายไม่มาติดต่อหรือพูดคุย แต่หลังจากได้เยี่ยมญาติและพบทนายแล้ว ทั้ง 2 ราย ก็รู้สึกเกิดความผ่อนคลายมากขึ้น”

นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลักลอบนำยาพาราเซตามอลที่มีจำนวนมาก และการทำร้ายตัวเองด้วยของมีคมดังกล่าวแล้ว เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของผู้ต้องขังทุกราย และมีความเป็นห่วงอย่างยิ่งเมื่อผู้ต้องขังเกิดความเครียดที่ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ โดยกำชับให้ทุกเรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่ง มอบหมายนักจิตวิทยา เข้าดูแลพูดคุยกับผู้ต้องขังเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และเท่าเทียมกัน เพื่อมิให้เกิดการทำร้ายตัวเองขึ้นอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น