xs
xsm
sm
md
lg

ก.ทรัพย์ สานต่อนายกฯจับมือสมาพันธรัฐสวิส ทำข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตคู่แรกของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ สานต่อเป้าหมายนายกรัฐมนตรีจับมือสมาพันธรัฐสวิส ทำข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตคู่แรกของโลก พร้อมเร่งสร้างกลไกการบริหาร ซื้อขาย ใช้ประโยชน์ทั้งในและระหว่างประเทศ

วันนี้ (26 มิ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีนโยบายในการร่วมมือนานาประเทศเพื่อลดปัญหาโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าวโดยต่อเนื่อง

ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ นางซีมอเน็ตตา ซอมมารูกา รมว.สิ่งแวดล้อม คมนาคม พลังงานและสารสนเทศ สมาพันธรัฐสวิส จัดทำข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งนับเป็นข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นคู่แรกของโลก

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ทั้ง 2 ประเทศจัดทำกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ โดยสมาพันธรัฐสวิสจะสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีบัส ในกรุงเทพฯ โดยจะมีทั้งภาคส่วนต่างๆและเอกชนเข้าร่วม และไทยคาดหวังว่าจะสามารถเป็นประเทศแรกของโลกที่ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การลดปล่อยคาร์บอน และการสร้างกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลเร่งรัดขับเคลื่อน โดยขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วางแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเพื่อเป็นแนวดำเนินงานสำหรับการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ในประเทศและระหว่างประเทศ ตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์โดยหน่วยงานรัฐ

โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการเพื่อได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต ผู้ประสงค์ซื้อขาย ทั้งหมดจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. การกำหนดขั้นตอนในทางปฏิบัติสำหรับการใช้คาร์บอนดเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ในประเทศ อาทิ การดำเนินการของศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ขั้นตอนการซื้อขายระหว่างผู้พัฒนาโครงการ ผู้ซื้อ และผู้ใช้คาร์บอนเครดิต ส่วนกรณีใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ได้กำหนดประเภท ลักษณะ โครงการที่ข่ายที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้คาร์บอนเครดิต การออกหนังสืออนุญาต ตลอดจนการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายประเทศไทย ระหว่างการร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ว่าไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ.2608)


กำลังโหลดความคิดเห็น