“ครูมานิตย์” ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย จี้ถาม “สุพัฒนพงษ์” ปมมาตรการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ลุกลามไปทั่ว แนะเรียกคืนเงินกองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้านบาท พร้อมตัดสัดส่วนกำไร ปตท.ช่วยพยุงราคากู้วิกฤต ด้าน “สุพัฒนพงษ์” มั่นใจมาตรการดูแลคนตัวเล็ก-กลุ่มเปราะบาง โยนเรื่องกำไร ปตท.เป็นเรื่องของ ก.คลัง แจงหนุนใช้เตาอั้งโล่กับชนบทไม่ได้ให้ใช้แทนแก๊สหุงต้ม
วันนี้ (23 มิ.ย.) นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เรื่องปัญหาราคาน้ำมันแพงว่า ขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และจะลามไปถึงแก๊สกับไฟฟ้า ตอนนี้เดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการใช้รถ แต่เดือดร้อนไปถึงชาวนาที่วันนี้เขาไม่มีเงินจ้างรถไถนา อีกทั้งปัญหาราคาปุ๋ยก็แพงขึ้น นายสุพัฒนพงษ์ ถือเป็นลูกหม้อ เพราะก่อนมาเป็น รมว.พลังงาน ก็มาจากกระบวนการน้ำมัน ท่านย่อมรู้ดี และใกล้ชิดนายกฯด้วย ต้องหาวิธีแก้วิกฤต แล้วถามว่าจะไปขอเงินจากโรงกลั่นนั้นสามารถทำได้หรือไม่ เพราะโรงกลั่นเขาเป็นเอกชน ถามว่า วันนี้รัฐบาลคิดที่จะพยุงราคาน้ำมันอย่างไรไม่ให้ราคาขึ้นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบไปสู่ส่วนอื่นๆ และทำไมไม่เรียกเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 2 หมื่นกว่าล้านบาท คืนมา เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมัน อีกทั้งทำไมไม่ตัดสัดส่วนกำไรจาก ปตท.คืนกลับมาลดค่าน้ำมันช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤตแบบนี้ และทำไมจึงไม่นำวิธีการทางการทูตมาใช้เจรจากับประเทศที่เป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน
“รัฐบาลแนะนำให้ใช้ถ่าน ใช้เตาอั้งโล่ ใช้ฟืน แสดงว่า รัฐบาลก็พอรู้ปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็ยังชอบใช้คำว่าวินวิน ไม่รู้คำว่าวินวิน นี่เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทุนหรือไม่ หรือประชาชนกับรัฐบาล ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนและลำบาก ผมไม่เห็นด้วยที่ชอบอ้างบัตรพลังประชารัฐ ต้องหาวิธีคิดให้คนหลุดจากความจนเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ เมื่อเรารู้วิกฤตพลังงานจะยาวไปไกล ซึ่งงบประมาณแผ่นดินที่อยู่วาระที่ 1 กำลังจะเข้าวาระที่ 2 ขอให้นายกฯสั่งการให้เกลี่ยงบฯที่ไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไปเตรียมการพยุงรักษาเสถียรภาพพลังงาน ไม่ใช่เอางบกลางไปใช้เพื่อโควิดอย่างเดียว เพราะน้ำมันไม่ใช่โรคท้องถิ่น”
ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวชี้แจงว่า สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยอมรับแล้วว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในและเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งรัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชน ตอนนี้สถานการณ์พลังงานในตลาดโลกวันนี้มันแย่ลงกว่าเดิม ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสูงกว่า 90% รัฐบาลก็ต้องพยายามประคับประคองสินค้าใด หรือน้ำมันสำเร็จรูปใดอันเป็นผลต่ออัตราค่าครองชีพของประชาชน พยายามค่อยๆขึ้นมาทีละน้อย แน่นอนว่า ประชาชนเดือดร้อน แต่เราประคับประคองเต็มที่ พยายามใช้เงินให้สมดุลกับการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศที่จะต้องคู่ขนานกันไป แต่คนตัวเล็ก กรณีแก๊สหุงต้ม แก๊สแอลพีจี บัตรสวัสดิการของรัฐเราก็มีให้
ส่วนพ่อค้าแม่ค้า ทาง ปตท.ให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมไปอีก เพื่อลดผลกระทบ วันนี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 34-35 บาทต่อลิตร แต่ประเทศเพื่อนบ้านไปไกลกว่านั้นแล้ว เช่น เวียดนาม 46 บาทต่อลิตร ตนเข้าใจปัญหาดี รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามตรึงส่วนนี้ไว้ แต่วันนี้เราตรึงมายาวมากตั้งแต่เดือน พ.ย. 64 จนถึงเดือน มิ.ย.นี้ รัฐบาลเห็นความสำคัญและพยายามรักษาตรงนี้ไว้ ดูแลประชาชนและเกษตรกรให้ได้รับการประคับประคอง และเราต้องรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลเดินฝ่าไปได้ช่วงอัตราเงินเฟ้อยังสูงอยู่ การออกรายงานต่างๆของสถาบันการเงินต่างๆก็ยังมั่นใจว่าการเดินนโยบายแบบนี้ยังดูแลคนตัวเล็ก คนเปราะบาง เดินฝ่าอัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นสูง และสร้างการเจริญเติบโตของประเทศทางเศรษฐกิจต่อไปได้
ส่วนเรื่องเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ส่งคืนไปก็คืนเข้าคลัง แต่ยังมีเงินบางส่วนใช้ตามวัตถุประสงค์อย่างเพียงพอ เงินไม่ได้ไปไหน กลับไปที่คลังเป็นงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้ประโยชน์ อีกทั้งกระทรวงการคลังก็ลดภาษีสรรพสามิตให้ด้วย ราคาน้ำมันดีเซลจากเดิมเพิ่มเป็น 5 บาท และยังมีส่วนสนับสนุนอีก 11 บาท ส่วน ปตท.ที่มีกำไรเยอะ รัฐบาลถือหุ้น 62% เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงพลังงาน ส่วนเงินปันผลหรือเงินกำไรที่ได้มาทุกปีที่ดูเหมือนเยอะ เขาจะต้องกันครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นได้ เอามาเป็นเงินปันผลกลับเข้าสู่ระบบกระทรวงการคลังถือเป็นเงินได้ของแผ่นดิน เอามาใช้เป็นงบประมาณที่ได้มาทุกปี เราอาจจะเห็นเหมือนมีกำไรมาก แต่สุดท้ายต้องหักเงินปันผลเก็บไว้ใช้ในส่วนทั่วไปสำหรับบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องยนต์ โรงงาน การขยายกิจการเพื่อสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน หลายเรื่องความช่วยเหลือที่ขอไปทาง ปตท.เขาก็ไม่เคยขัดข้อง
“สิ่งที่ทุกประเทศเขาทำจริงจัง คือ การรณรงค์ช่วยประหยัดพลังงาน วันนี้หากเราปรับอุณภูมิขึ้น 1 องศา ก็จะช่วยบรรเทาได้ 10% ของค่าไฟฟ้า ประหยัดพลังงานไปได้เยอะ ส่วนเรื่องเตาอั้งโล่อาจจะเป็นเรื่องการสื่อสารขยายผลในมุมของคนเมือง แต่ทางกระทรวงพลังงานเห็นความสำคัญของประชาชนที่ยังใช้เตาเชื้อเพลิงประเภทถ่าน ยังมีอยู่มากในสังคมชนบท ที่เข้าถึงแก๊สหุงต้มได้ไม่เต็มที่ ก็เป็นการเผยแพร่ซ้ำเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าจะมาทดแทนการใช้แก๊สหุงต้มที่ขาดแคลน” นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจง