“อันวาร์” รับหนังสือ ฝ่าย กม.โฮปเวลล์ ร้อง กมธ.พาณิชย์ฯ สภา จี้ “คมนาคม-รฟท.” ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการ ชี้ การกระทำการมิชอบต่อกระบวนการยุติธรรม สั่งลบล้างคำพิพากษา
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เรื่อง ขอความเป็นธรรมกรณีโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศโทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System - BERTS) เพื่อมุ่งแก้ปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในสัญญาสัมปทานระหว่างกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศโทย) จำกัด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 การดำเนินโครงการ ภายใต้สัญญาสัมปทาน บริษัท โฮปเวลล์ เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาเงินลงทุนดำเนินโครงการเองทั้งหมด อีกทั้งบริษัท โฮปเวลล์ ยังมีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าแก่ รฟท. ไม่ต่ำกว่า 10,050 ล้านบาท โดยเริ่มจ่ายทันที จำนวน 300 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญาสัมปทาน และจ่ายเพิ่มขึ้นปีละ 50 ล้านบาท ทุกๆ ปี บริษัท โฮปเวลล์ ได้ทุ่มเทดำเนินโครงการอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งหวังให้โครงการเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาจราจรของกรุงเทพมหานคร และอำนวยความสะดวกแก่การเดินทางของประชาชนโดยทั่วไป
นายสุภัทร กล่าวว่า แต่น่าเสียดายที่การดำเนินโครงการต้องประสบกับปัญหาการส่งมอบพื้นที่ดำเนินโครงการล่าช้า อีกทั้งยังประสบกับปัญหาการตรวจพิจารณาอนุมัติแบบก่อสร้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าล้วนเกิดจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่สัญญา แต่บริษัท โฮปเวลล์ กลับถูกกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ลงวันที่ 27 ม.ค. 2541 โดยกล่าวหาว่า บริษัท โฮปเวลล์ ก่อสร้างโครงการล่าช้า จนไม่อาจยอมรับได้ และบริษัท โฮปเวลล์ ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2551 ให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย คือ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ กลับคืนสู่สถานะเดิม โดยให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. คืนเงิน จำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่บริษัท โฮปเวลล์
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุด เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แต่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ใช้กลไกมาตรการทางกฎหมายหลายประการ เพื่อมุ่งหวังลบล้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ บริษัท โฮปเวลล์ เห็นว่า พฤติกรรมของกระทรวงคมนาคม และ รฟท.อาจเป็นการกระทำมิชอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนระบบกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จึงขอให้คณะ กมธ.คณะ ได้พิจารณาตรวจสอบการกระทำของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. พร้อมกับเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก
ด้าน นายอันวาร์ กล่าวว่า เรื่องร้องเรียนของบริษัท โฮปเวลล์ นั้น บริษัทได้นำเงินมาลงทุนกับโครงการแต่ไม่ได้เบิกจ่ายเงินจากภาครัฐแต่อย่างใด อีกทั้งบริบัทจ่ายเงินสัมปทานให้กับภาครัฐด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทชนะคดี จึงได้ทวงถามเงินที่บริษัทได้นำเงินมาลงทุน ทั้งนี้ กมธ.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. เพื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า บริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเหตุใด