รองโฆษกรัฐบาล ย้ำ ใช้กฎหมาย PDPA เพื่อประโยชน์คุ้มครองกับประชาชน ให้เวลาผู้ประกอบการขนาดเล็กปรับตัว ดีอีเอสเตรียมประกาศกฎหมาย 8 ฉบับ ผ่อนคลายเกณฑ์สำหรับเอสเอ็มอี คาด 4 ฉบับ มีผลบังคับสัปดาห์หน้า
วันนี้ (19 มิ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปถึงรายละเอียดและประโยชน์ของข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ประชาชนเข้าใจถึงเจตนารมณ์แท้จริงที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยมาตรฐานสากล ขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายน้อยที่สุด ให้เวลาในการปรับตัวโดยเฉพาะเอสเอ็มอี
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ดีอีเอสได้เตรียมประกาศกฎหมาย 8 ฉบับ ซึ่งจะมีผลผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎหมาย PDPA ที่จะบังคับใช้ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดย 4 ฉบับ เป็นประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับในสัปดาห์หน้า ส่วนอีก 4 ฉบับจะทยอยประกาศภายในเดือน มิ.ย.ต่อไป
“ดีอีเอสกำลังดำเนินการตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับว่าเนื่องจาก PDPA เป็นกฎหมายใหม่สำหรับประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นขอให้เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจ ให้ภาระเกิดกับผู้เกี่ยวข้องน้อยที่สุด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การผลักดันให้กฎหมาย PDPA มีผลบังคับ ให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้รับความคุ้มครองนี้ จะเป็นส่วนทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่ได้มาตรฐานและเป็นสากล จากปัจจุบันไทยมีกฎหมายครอบคลุมเกือบทุกด้านแล้วไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA สามารถติดตามข้อมูลด้วยตนเองได้ที่เฟซบุ๊ก PDPC Thailand หรือ โทร. 1111