กระทรวงพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ สร้างทางเลือกให้บริษัทมหาชนจำกัดติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้นและประชาชนผ่านระบบเทคโนโลยี รองรับสังคมดิจิทัล ทั้งการประชุม การจัดส่งหนังสือหรือเอกสาร การมอบฉันทะในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ให้มีความทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้ง ช่วยสร้างทางเลือกให้บริษัทมหาชนจำกัดในการติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้นและประชาชนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุม การจัดส่งหนังสือหรือเอกสาร และการมอบฉันทะในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เป็นการรองรับระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ และลดค่าใช้จ่ายภาคธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาล
พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมให้การโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัทมหาชนจำกัดสามารถใช้วิธีการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด แทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ก็ได้
2. แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทหรือคณะกรรมการสามารถส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด
3. แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถประชุมคณะกรรมการ และการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
4. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียกประชุมคณะกรรมการในกรณีไม่มีประธานไม่ว่าด้วยเหตุใด โดยกำหนดให้รองประธานกรรมการ หรือกรรมการสองคนขึ้นไป อาจเรียกประชุมกรรมการได้
5. แก้ไขเพิ่มเติมให้การมอบฉันทะเพื่อข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนดได้
การแก้ไขเพิ่มเติมฯ ในครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยจัดให้มีกฎหมายที่สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชน และมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกหลากหลายช่องทาง นอกจากนี้ ยังเป็นการลดต้นทุนของภาคธุรกิจโดยการส่งเสริมให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้กระดาษอีกด้วย” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565) บริษัทมหาชนจำกัด ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,345 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.16 ของจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (นิติบุคคลคงอยู่ 837,840 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 5.31 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.51 ของทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (ทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด 20.03 ล้านล้านบาท)