“ศุภชัย” แจงยิบ ประกาศ สธ. เรื่องกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามเด็กใช้ ห้ามสูบที่สาธารณสุข มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ขอบคุณตำรวจ ช่วยชี้แจง
จากกรณีที่มีหลายภาคส่วนออกมาตั้งคำถามว่า ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การควบคุมการใช้กัญชานั้น ไม่มีบทลงโทษ จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง
ล่าสุด วันนี้ (18 มิ.ย.) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Suphachai Jaismut) ระบุว่า
ผมเคยเล่าเหตุผลของการมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้มาเมื่อสองวันก่อน ว่า เนื่องจากต้องการให้กัญชาสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เกิดการใช้ได้อย่างเข้าใจ ไม่ถูกใช้ในทางที่จะเกิดผลเสียต่อเด็กและเยาวชน หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ตามที่มีการเรียกร้องจากสังคม ทำให้ประชาชนทั้งประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไปทุกคน สามารถได้รับอนุญาตให้ครอบครอง ดูแลเก็บรักษา ขนย้าย ใช้ประโยชน์และจำหน่ายได้ และไม่กระทบกับผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือสตรีมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรที่มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาจากกัญชาทางการแพทย์ โดยแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีนหรือหมอพื้นบ้าน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกัญชาของประเทศไทย ถือเป็นสมุนไพรควบคุมที่ต้องได้รับการคุ้มครองให้มีคุณค่า ไม่ให้เกิดความเสียหายกับชื่อเสียงของกัญชาที่เคยถูกปกปิดไว้ในอดีต โดยการไม่อนุญาตให้ประชาชนสูบกัญชาในที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้จำหน่ายแก่เด็ก สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ประกาศนี้ไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ และสามารถมีผลบังคับใช้ทางอาญา หากกระทำผิดตามประกาศฉบับนี้ ต้องรับโทษตามกฎหมาย
แต่ดูเหมือนว่าหลังจากออกประกาศออกมายังมีคนทำตัวขวางความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขในการที่จะออกมาปกป้องสังคมให้ปลอดภัย มีการออกมาแสดงความเห็นว่าประกาศดังกล่าวนี้ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ท่วงทำนองเย้ยหยัน
ในฐานะนักกฎหมายที่ศึกษาเรื่องนี้มาผมขอยืนยันว่าประกาศนี้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว กล่าวคือ
1. รัฐมนตรี อาศัยอำนาจ ในการออกประกาศ ตามมาตรา ๔
2. รัฐมนตรียังอาศัยอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ มาตรา ๔๕(๓) โดยใช้เงื่อนไข ในการอนุญาต ให้ผู้ที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา หรือขนย้ายสมุนไพรควบคุม ยกเว้น การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ การใช้ประโยชน์ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ สตรีมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
3. รัฐมนตรียังอาศัยอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ตามมาตรา ๔๕(๕) กำหนดเงื่อนไข โดยการอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถจำหน่ายได้ ยกเว้น การจำหน่ายให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
4. ตามเงื่อนไขข้างต้นที่ถูกประกาศไว้แล้ว ไม่ต้องมายื่นขออนุญาต
5. ยกเว้น ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข หากมีความประสงค์จะจำหน่ายต้องมายื่นขออนุญาต กับอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถขออนุญาตได้ ตามกฎกระทรวง โดย ยื่นขอได้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำหรับกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกแห่ง
6. เนื่องจากเหตุผลทางวิชาการ ที่มีหลักฐานว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร อาจจะมีผลลบต่อสุขภาพให้ใช้ประโยชน์โดยไม่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ถือเป็นการใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้สมุนไพรควบคุมที่มีคุญค่าเกิดความเสียหาย จึงยังไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตให้ใช้
7. สำหรับกฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙
“8. สำหรับบทบังคับใช้ นั้น เกิดจาก การประกาศกำหนดเงื่อนไข การอนุญาตไว้แล้ว ตามมาตรา ๔๕(๓) และ ๔๕(๕) หากใคร ดำเนินการนอกเหนือจากการอนุญาต ที่ประกาศไว้แล้ว จะส่งผล ให้ ขัดต่อ มาตรา ๔๖ ทันที
โดยเฉพาะการจำหน่าย ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ลงมา สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ซึ่งไม่จำเป็นต้องระบุในประกาศ และจะส่งผลให้เป็นการฝ่าฝืน มาตรา ๔๖ ไปด้วย เลยต้องรับโทษ ตามมาตรา ๗๘ ที่ต้อง ถูกจำคุก ไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ออกมายอมรับความชอบของประกาศฉบับนี้
โดยท่านระบุว่า
“หากผู้ใดละเมิดประกาศนี้ มีโทษปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542”
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ การออกกฎหมาย ออกประกาศใดมาบังคับใช้กับประชาชนให้ดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมายหรือประกาศนั้นๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดประโยชน์ต่อประโยชน์สาธารณะ สังคมส่วนรวม
เรื่องกัญชา เป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมเรียนรู้ สนับสนุนให้ใช้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การลงโทษ ไล่จับ จนผู้ใช้ในทางที่ถูก ต้องหนีลงใต้ดิน ไม่ใช่ทำลายภูมิปัญญาทำลายกระบวนการวิจัย พัฒนา ทำลายโอกาสเข้าถึงยา ทำลายโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วต้องพึ่งพาต่างชาติตลอดไป หลักการสำคัญ คือ การเรียนรู้ และควบคุมการใช้ในทางที่ผิด นี่คือ หลักการและเจตนารมณ์ของประกาศนี้