ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ทีทำไม่คิด พอโดนจับก็ร้อง “นารา เครปกะเทย-มัมดิว-หนูรัตน์”
ดรามากรณีตำรวจ ปอท. บุกจับ 3 เน็ตไอดอลดัง “นารา เครปกะเทย-มัมดิว-หนูรัตน์” ข้อหาเข้าข่ายความผิด ม.112 และ พ.ร บ.คอมพิวเตอร์ ปมทำโฆษณารีวิวแคมเปญ 5.5 ของ LAZADA แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากจีน ที่ทำเอาโลกโซเชียลฯ ลุกเป็นไฟด้วยความคิดเห็นของเหล่าชาวเน็ตจำนวนมาก
กรณีนี้ต้องเท้าความกันสักนิด ทั้งสามคนเป็นก๊วนที่รับรีวิวโฆษณาจากเอเยนซี่ของลาซาด้า ในช่วงทำแคมเปญการตลาดส่งเสริมการขายของเดือนพฤษภาคม วันที่ 5 เดือน 5 พอทำคอนเทนต์ ออกมาหมิ่นเหม่จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่เหมาะสม” ... “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย “นักร้องดัง” เห็นเข้า จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา
จากนั้น พนักงานสอบสวน ก็ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ในฐานที่ได้ร่วมกันผลิต และเผยแพร่สื่อโฆษณาที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จนนำไปสู่การรวบรวมพยานหลักฐาน และขออนุมัติศาลเพื่อออกหมายจับ
ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ได้แก่ 1. นายอนิวัต ประทุมถิ่น หรือ “นารา เครปกะเทย” อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1115/2565 ลง 10 มิ.ย. 65 ในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(1) และ 14 (3) โดยจับกุมได้ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
2. นายกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือ “มัมดิว” อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1116/2565 ลง 10 มิ.ย. 65 ในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 โดยจับกุมได้ที่บ้านพัก บริเวณแขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ
3. น.ส.ธิดาพร ชาวคูเวียง หรือ “หนูรัตน์” อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1117/2565 ลง 10 มิ.ย. 65 ในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 โดยจับกุมได้ที่บ้านพัก บริเวณ ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ทาง บก.ปอท.ยืนยันว่า การดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามกระบวนการทางกฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวน ของพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. และ เมื่อสอบสวนปากคำผู้ต้องหาเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนต่อไป
ข่าวแจ้งว่า ผู้ต้องหาทั้งสามรายที่ถูกออกหมายจับ พนักงานสอบสวนได้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสามคน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสามคนวงเงินคนละ 90,000 บาท
“นารา เครปกะเทย-มัมดิว-หนูรัตน์” ต่างก็มีแฟนๆ ติดตามผลงานในโซเชียลฯ จำนวนมาก เพราะทำคอนเทนต์สนุกสนาน ออกแนวตลกโดนใจชาวเน็ต ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะโดนบุกจับ เฟซบุ๊ก “นารา เครปกะเทย” ได้โพสต์ข้อความแจ้งแฟนคลับว่า... “เช้านี้นารา ได้ทราบเรื่องจากเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ว่า นารา ได้ทำผิด โฆษณา LAZADA และหมิ่นเบื้องสูง ตอนนี้ทางนารา ได้ทราบเรื่องเรียบร้อยแล้ว นารากำลังจะเดินทางไปหาเจ้าหน้าที่ตอนเวลา 14.30 น. ด้วยความบริสุทธิ์ใจ นารา ขอความเห็นใจและกำลังใจจากที่ทุกคนด้วยนะคะ นาราไม่รู้เลยว่าจะโดนไรบ้าง แต่ขอให้ผ่านไปได้ด้วยดีด้วยเถิด”
งานนี้ก็ต้องบอกว่า ตอนทำ ทำไมไม่คิด พอถูกกล่าวหาว่าผิดแล้วโดนจับ ทีอย่างนี้จะมาร้อง... เฮ้อ!!
**เมีย-ลูก “สมัคร สุนทรเวช” รับเคราะห์จากคดีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง กทม. ต้องชดใช้ 587ล้าน !!
มหากาพย์คดีทุจริตจัดซื้อรถ เรือดับเพลิง กทม. ที่ทำเอาผู้เกี่ยวข้องต้องคดี เดือดร้อนไปตามๆ กัน...
ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ “คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช” ภรรยา “สมัคร สุนทรเวช” อดีตผู้ว่าฯ กทม.ผู้ล่วงลับ และบุตรสาวอีก 2 คน ในฐานะทายาท ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี
คดีนี้ กรุงเทพมหานครได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามให้ร่วมกันรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ที่ “สมัคร” ต้องรับผิดชอบ จากกรณีการทุจริตในโครงการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์ กับ บริษัท สไตเออร์ เมื่อปี 47-48 ซึ่งกระทรวงการคลัง กำหนดให้ “สมัคร” ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของผู้ร่วมกระทำผิด และต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ต้นเรื่องเริ่มเมื่อปี 2546 “บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียลฟาย์ซอย์” ประเทศออสเตรีย มีหนังสือถึง รมว.มหาดไทย เสนอราคารถดับเพลิง... ซึ่ง “ประชา มาลีนนท์” รมช.มหาดไทย ในขณะนั้น มีบัญชาให้ กทม.พิจารณา... “สมัคร สุนทรเวช” ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น ก็แทงเรื่องถึง รมว.มหาดไทย ขออนุมัติโครงการ เพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบ เพื่อใช้งบฯ 7,847,660,150 บาท ดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (ภายหลังลดราคาลงเหลือ 6,687,489,000 บาท)
ต่อมา ครม.มีมติอนุมัติ ตามที่มหาดไทยเสนอ โดยมติ ครม.ส่วนหนึ่งระบุว่า ส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ให้นำเข้าเฉพาะ ส่วนที่จำเป็นและที่ไม่มี หรือที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย วันที่ 30 ก.ค. 47 รมว.มหาดไทย และเอกอัครราชทูตออสเตรีย ร่วมลงนามข้อตกลงความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลออสเตรีย โดย “พล.ต.อ.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ” ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหนังสือเรียนกรมการค้าต่างประเทศ ดำเนินการทำการค้าต่างตอบแทน (เคาน์เตอร์เทรด)
11 ส.ค. 47 “สมัคร” เห็นชอบคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งของที่จะซื้อ แล้ว 27 ส.ค. 47 “โภคิน พลกุล” รมว.มหาดไทย ขณะนั้น ก็อนุมัติการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. และบริษัท สไตเออร์ ร่วมลงนามในเอโอยู โดยกำหนดให้ กทม.ต้องเปิดแอลซี ภายใน 30 วัน นับแต่มีการลงนามซื้อขาย
ต่อมา ส.ค. 47 “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อจาก “สมัคร” จึงขอขยายเวลาการเปิดแอลซีออกไปอีก 1 เดือน และมีหนังสือแจ้งธนาคารกรุงไทย ให้ระงับการเปิดแอลซี จากนั้นมีหนังสือเรียน รมว.มหาดไทย ให้พิจารณาทบทวนการจัดซื้อ
ต.ค. 47 “อภิรักษ์” มีหนังสือถึง รมว.มหาดไทย เพื่อขอให้ทบทวนอีกครั้ง แต่ รมว.มหาดไทย มีหนังสือสั่งการผู้ว่าฯ กทม. ว่าสัญญาการค้าต่างตอบแทนถูกต้องแล้ว
ต่อมาปี 49 มีการส่งมอบรถและเรือดับเพลิง มาเก็บไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ถัดมามีการร้องเรียนให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนเรื่องการจัดซื้อ และต่อโอนไปให้ คตส. สอบสวน ต่อมา คตส. หมดอายุ ในวันที่ 30 มิ.ย. 51 จึงได้โอนคดีไปให้ ป.ป.ช. สอบสวน และมีมติชี้มูลความผิด เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 51 โดยมีผู้ถูกกล่าวหา ประกอบด้วย 1. อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2. สมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. 3. โภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย 4. ประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย 5. วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ 6. พล.ต.ต.อธิรักษ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และ 7. บริษัท สไตเออร์ คู่สัญญา จากออสเตรีย
ต่อมา “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ขึ้นเป็น ผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้ยื่นฟ้องบริษัท สไตเออร์ ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 53 เพื่อให้เพิกถอนสัญญาซื้อขาย และเรียกเงินที่จ่ายไปคืนทั้งหมด ตามคำสั่งของ ป.ป.ช. เนื่องจากเห็นว่า การทำสัญญาจัดซื้อมีการทุจริต จนเกิดการกีดกันทางการค้า และการเสนอราคาอย่างไม่เป็นธรรม
จากการทุจริตดังกล่าวส่งผลให้นักการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีกันถ้วนหน้า แล้วในที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีคำพิพากษาให้จำคุก “ประชา” เป็นเวลา 12 ปี และ จำคุก “พล.ต.ต.อธิลักษณ์” เป็นเวลา 10 ปี โดยทั้งคู่ ยังหลบหนีโทษความผิดจนถึงขณะนี้
ส่วน “สมัคร” ที่ต้องมาร่วมรับผิดชอบในฐานะผู้ว่าฯ กทม. จนกระทั่งผลกรรมต้องตกมาถึงภรรยาและทายาท เพราะว่าเป็นผู้อนุมัติจัดซื้อ ถือว่าทำให้ กทม.ได้รับความเสียหาย จึงสมควรต้องรับผิดต่อ กทม. ในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมด ซึ่งคิดออกมาแล้วเป็นเงิน 587,580,000 บาท
และเป็นที่มาของคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด ว่า เมื่อความรับผิดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของ “สมัคร” ต่อ กทม. เป็นความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นเงิน มิใช่ความรับผิด ซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของนายสมัครผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น บุคคลทั้งสาม ในฐานะทายาทโดยธรรม จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 587,580,000 บาท ให้แก่ กทม. โดยไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่ตน ตามมาตรา 1600 และ มาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์