ก้อนแรกปี 65! งบกลาง 877 ล้าน ลงท้องถิ่น ใน 44 จังหวัด รับมือภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง กว่า 609 โครงการ “สุพรรณบุรี” ได้รับมากสุด 63 ล้าน เฉพาะซ่อมสูบน้ำไฟฟ้า อบต.วังตาล ปราจีนบุรี ได้งบกว่า 38 ล้าน ส่วน “เจาะบาดาล-ประปาหมู่บ้าน” ยังเป็นโครงการยอดฮิต พบ “มุกดาหาร” โซลาร์เซลล์สูบบาดาล ราคาเท่ากัน 4.9 แสน
วันนี้ (13 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงบประมาณ (สงป.) มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) แจ้งผ่านไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด 44 จังหวัด
เพื่อแจ้งรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565
“สงป.อนุมัติให้ สถ.เบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 877,070,700 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง 609 โครงการ”
โดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ค่าครุภัณฑ์ 56 โครงการ เป็นเงิน 206,697,000 บาท และเป็นค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 553 โครงการ เป็นเงิน 670,373,700 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติ เมื่อ 29 มี.ค. 2565
ที่ผ่านมา สถ. ตั้งของบประมาณรายจ่ายปี 2565 เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง วงเงิน 1,659,074,800 บาท ผ่าน 1,176 โครงการ
โดย 44 จังหวัด กว่า 500 อปท. ที่ได้รับ งบกลาง รายการนี้ ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ 24 โครงการ ได้รับจัดสรร 50,582,900 บาท จ.กำแพงเพชร 24 โครงการ 22,296,300 บาท จ.ขอนแก่น 2 โครงการ 7,107,100 บาท
จ.จันทบุรี 6 โครงการ 20,254,900 บาท จ.ฉะเชิงเทรา 5 โครงการ 26,429,400 บาท จ.เชียงราย 10 โครงการ 15,205,300 บาท จ.เชียงใหม่ 6 โครงการ 7,190,000 บาท จ.ตรัง 3 โครงการ 2,080,000 บาท
จ.ตาก 8 โครงการ 27,921,200 บาท จ.นครนายก 2 โครงการ 2,670,000 บาท จ.นครปฐม 5 โครงการ 4,562,000 บาท จ.นครพนม 17 โครงการ 29,916,200 บาท จ.นครสวรรค์ 13 โครงการ 14,752,600 บาท
จ.น่าน 48 โครงการ 84,648,300 บาท จ.บึงกาฬ 9 โครงการ 3,794,800 บาท จ.บุรีรัมย์ 2 โครงการ 4,761,800 บาท จ.ประจวบคีรีขันธ์ 6 โครงการ 8,391,000 บาท จ.ปราจีนบุรี 4 โครงการ 45,169,600 บาท
จ.พะเยา 16 โครงการ 13,937,100 บาท จ.พัทลุง 23 โครงการ 37,214,600 บาท จ.พิจิตร 14 โครงการ 8,370,500 บาท จ.พิษณุโลก 5 โครงการ 3,377,500 บาท จ.เพชรบุรี 11 โครงการ 41,060,800 บาท
จ.เพชรบูรณ์ 56 โครงการ 50,287,900 บาท จ.มุกดาหาร 75 โครงการ 38,632,400 บาท จ.แม่ฮ่องสอน 3 โครงการ 2,116,000 บาท จ.ยโสธร 64 โครงการ 48,051,200 บาท จ.ระนอง 1 โครงการ 3,300,บาท
จ.ระยอง 13 โครงการ 20,987,000 บาท จ.ลพบุรี 3 โครงการ 1,389,400 บาท จ.ลำปาง 26 โครงการ 33,457,200 บาท จ.ลำพูน 24 โครงการ 12,323,000 บาท จ.เลย 6 โครงการ 1,392,800 บาท
จ.ศรีสะเกษ 2 โครงการ 2,429,000 บาท จ.สตูล 1 โครงการ 748,000 บาท จ.สระบุรี 1 โครงการ 681,000 บาท จ.สิงห์บุรี 1 โครงการ 415,000 บาท จ.สุโขทัย 1 โครงการ 454,000 บาท
จ.สุพรรณบุรี 17 โครงการ 63,284,800 บาท จ.หนองคาย 9 โครงการ 34,876,100 บาท
จ.หนองบัวลำภู 6 โครงการ 14,878,000 บาท จ.อุตรดิตถ์ 5 โครงการ 4,294,200 บาท จ.อุทัยธานี 4 โครงการ 21,740,000 บาท และ จ.อุบลราชธานี 22 โครงการ 38,526,700 บาท
ทั้งนี้ พบว่า โครงการที่ได้รับงบกลาง วงเงินสูงกว่า 10 ล้านบาท เช่น โครงการขุดสระดอนใหญ่ ขนาด 1.2 แสน ลบ.ม. วงเงิน 12 ล้านบาท ของ อบต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา
โครงการซ่อมแซมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ของ อบต.วังตาล อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี วงเงิน 38,969,600 บาท โครงการสร้างโรงกรองน้ำ เทศบาลตำบลท่าย่าง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี วงเงิน 15,888,000 บาท
โครงการขุดลอกบึงสัมพันธ์น้อย อบต.โคกช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุภรรณบุรี วงเงิน 16,800,000 บาท โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพน้ำในการกักเก็บน้ำ “ปูน้ำยางคอมพาวด์ เคลือบผ้า” เทศบาลตำบลพระโค อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย วงเงิน 19,061,000 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า หลายโครงการที่มีวงเงินระหว่าง 1-5 แสนบาท เป็นโครงการขุดเจาะน้ำบาดาล และปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน
ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน จ.มุกดาหาร ที่ได้รับงบกลาง ลง 75 โครงการ มากกว่า 38 ล้านบาท เกือบทั้งหมด เป็นโครงการ “ขุดเจาะน้ำบาดาลและระบบสูบน้้ำพลังงานแสงอาทิตย์” ใช้งบประมาณเท่ากัน ระหว่าง 490,000-491,400 บาท