xs
xsm
sm
md
lg

เอาล่ะสิ! “เด็กตลาดหลวง” ปกป้อง “ชัชชาติ” ฟาด “ปวิน” “พิธา” พลาด! เงินบำนาญคือปัญหาประเทศ? ดูถูก “ขรก.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีรูปแบนเนอร์ถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมฯ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เฟซบุ๊ก ของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
“ปวิน” หงุดหงิด “เด็กตลาดหลวง” โจมตี ลงแบนเนอร์ “ชัชชาติ” ถวายพระพรพระราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมฯ ยุชน “เจ้า”? สั่งสอนซะเลย “เสธ.Play” ซัด “พิธา” ดูถูก “ขรก.” เกษียณ “ดร.อานนท์” ท้าดีเบต ปมงบสถาบันฯ


น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (3 มิ.ย. 65) เว็บไซต์ข่าวและสื่อ Roundtable Thailand โพสต์ข้อความระบุว่า

“นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองในญี่ปุ่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ภายหลังได้โพสต์เฟซบุ๊กภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีรูปแบนเนอร์ถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมฯ แต่กลับถูกสมาชิกกลุ่มตลาดหลวงของตัวเองโจมตี โดย นายปวิน ยืนยันว่า “เชียร์ชัชชาติตั้งแต่วันแรก เชียร์สุดลิ่มทิ่มประตู วันนี้ก็ยังเชียร์อยู่ แต่หงุดหงิดใจว่า ทำไมนักการเมืองแบบใหม่ ยังต้องมาอวยอะไรแบบนี้ พอพูดอย่างนี้ปุ๊บ อีเด็กในตลาดมันตีความว่าดิชั้นจะให้ชัชชาติออกมาชนเจ้า

ภาพ “ปวิน” หงุดหงิด “เด็กตลาดหลวง” ปกป้อง “ชัชชาติ” ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก Roundtable Thailand
ไม่เลยค่ะ ไม่.. เพียงแต่ถ้าเรามีนักการเมืองแบบใหม่ ที่สามารถยุติหลักปฏิบัติแบบนี้ มันจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ เหมือนกับถ้าเราเลิกยืนในโรงหนัง มันคือการสร้างหลักปฏิบัติแบบใหม่ ฟังอีกที “ไม่อวยไม่ได้หมายความว่าให้ออกมาด่า” เลิกบูชาตัวบุคคลจนลืมว่าอะไรคือหลักการสำคัญ

ที่น่าสนใจก็คือ คุณชัชชาติ ตอบคำถามรุ้งเมื่อวันก่อนเรื่อง 112 ว่า มันถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่วันนี้ คุณชัชชาติ อวยพรวันเกิดคนที่เอา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สังคมมันก็วนลูปแบบนี้ รู้ว่าใครทำผิด แต่ก็ยังต้องยกย่องกันต่อไป แล้วคนที่เป็นแฟนคลับ พอเป็นคนที่เรารัก ก็ยอมสร้างข้อยกเว้นให้ทุกอย่าง ยกเว้นว่าชัชชาติไม่ควรถูกวิจารณ์ใดๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ฝากให้คิดค่ะ”
#roundtablethailand
roundtablethailand.com
ที่มา เฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun

ภาพ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พลาดเข้าทาง “เสธ.Play” ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ข้อความระบุว่า

“ข้าราชการควรได้ครับ
ส.ส. ส.ว. ไม่ควร
ตอนปี 48 รัฐบาลแม้วเคยผลักดัน ร่างพระราชกฤษฎีกา
บำเหน็จบำนาญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี😏”

พร้อมแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก “เสธ.Play” ระบุว่า

“เงินบำนาญคือปัญหาของประเทศ?

เสธ.เข้าใจได้ดีว่า พิธานั้นเป็นลูกคนรวย เป็นนักธุรกิจ อยู่บนกองเงินกองทองมาทั้งชีวิต ย่อมไม่สนใจเงินบำนาญอยู่แล้ว

แต่การพูดว่า เงินบำนาญคือตัวปัญหาของการพัฒนาประเทศนั้น เป็นสิ่งไม่สมควร
1. ข้าราชการส่วนใหญ่ ทำงานด้วยเงินเดือนที่ต่ำกว่าเอกชน และหน่วยงานราชการเกือบทั้งหมดไม่ได้มีโบนัส ดังนั้น สวัสดิการการรักษาพยาบาล และเงินบำนาญหลังเกษียณ คือ สิ่งที่มาชดเชยเงินก้อนใหญ่ๆ ที่ข้าราชการไม่มีแบบเอกชน

บำนาญและสวัสดิการนั้น ต่างจากเงินก้อนใหญ่ๆ แบบเอกชน คือ มันจะได้ใช้เมื่อเข้าเกณฑ์หรือเงื่อนไข กล่าวคือ ถ้าไม่เจ็บป่วยก็ไม่ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาล ถ้ายังไม่เกษียณก็ยังไม่ได้รับเงินบำนาญ ระบบนี้ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ๆในแต่ละเดือน แต่จ่ายเมื่อต้องจ่าย เรียกได้ว่า ประหยัดเงินกว่าการจ่ายเป็นก้อนใหญ่ๆ แบบเอกชนด้วยซ้ำ

ข้าราชการบางคนสุขภาพดีมาก แทบไม่เคยต้องใช้สิทธิรักษาพยาบาล บางคนเกษียณแล้วก็ตายเลย ยังไม่ทันได้จ่ายบำนาญ แบบนี้ก็มี

ถ้าจะไม่ให้มีเงินบำนาญแล้ว รัฐต้องจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการเทียบเท่าเอกชน ซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณมหาศาลมาก พอถึงตอนนั้นก็จะโจมตีข้าราชการอีกว่า ใช้เงินเยอะ
การพูดว่า เงินบำนาญคือปัญหาของประเทศ จึงเป็นคำพูดที่ไม่ฉลาดเลย

2. บำนาญข้าราชการนั้น ไม่ใช่ของที่มาอยู่แปบๆ แล้วก็ได้ ต้องรับราชการนานถึง 25 ปี จึงจะมีสิทธิ การรับเงินเดือนในอัตราที่น้อยกว่าเอกชนถึง 25 ปีนั้น ไม่ใช่เวลาน้อยๆ ดังนั้นการได้รับสิทธินี้ก็ถือว่าสมควรแล้ว

3. มีพวกอภิสิทธิ์ชนบางพวกนะครับ ที่ไม่ต้องรับราชการนานก็ได้บำนาญ อย่างพวก ส.ส. แบบพิธานั่นแหละ ถ้าอยากให้ไม่มีบำนาญ เริ่มจากพวก ส.ส. เสียก่อน

มาอยู่แปบๆ งานที่มีคือดีแต่พูด พูดแล้วประเทศได้ประโยชน์บ้าง พูดแล้วขัดขวางความเจริญบ้าง แบบที่เรากำลังเห็นจากพวกฝ่ายค้าน แต่ได้บำนาญเหมือนคนที่ทำงานมากกว่า 25 ปี แบบนี้มันทุเรศเหมือนกันนะครับ

การพูดแบบนี้ โดยส่วนตัว เสธ. ถือว่า เป็นการไม่ให้เกียรติผู้สูงอายุ เข้าทำนองใช้แล้วทิ้ง มีอย่างหรือเขาทำงานให้กับประเทศมาตั้งนาน รับเงินเดือนที่ได้รับก็ถือว่าไม่ได้สูงเลยเมื่อเทียบกับเอกชน แต่มาบอกว่าเงินที่เขาได้ใช้เลี้ยงชีพหลังเกษียณ คือภาระของประเทศ
แบบนี้ก็เท่ากับชี้หน้าด่าผู้สูงอายุว่า คือ ตัวปัญหาของประเทศนั่นแหละครับ

อย่ายกยอตัวเองว่า ทำงานเพื่อประชาชนเลยครับ ถ้ายังมีความคิดแบบนี้”

ภาพ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ก้าวไกล ขณะอภิปรายฯงบสถาบัน จากผู้จัดการออนไลน์
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

“เก่งจริงๆ แม่คุณ ขอเชิญมาดีเบตกับอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ครับ รู้ไม่จริงแล้วพูดมั่วๆ เสียหายมาก งบโครงการพระราชดำริ เป็นงบของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ถ้าตัดออกไปประชาชนเดือดร้อน ไม่ใช่งบสถาบัน สถาบันไม่ได้แตะเงินเลยสักบาท”
https://mgronline.com/politics/detail/9650000052654

ทั้งนี้ เนื่องมาจาก ข่าวผู้จัดการออนไลน์ โดย น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า

แม้ในกรอบปีงบประมาณปี 2566 มีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2565 ประมาณ 9.4 เปอร์เซ็นต์ ที่มีการจัดสรรงบประมาณให้สถาบัน ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อไปดูการขอรับงบในปีนี้ ในหน่วยงานส่วนต่างๆ พบการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวกับ การพิทักษ์เทิดทูนสถาบัน 660 ล้านบาท ถวายความปลอดภัย 4,933 ล้านบาท ส่วนราชการในพระองค์ 8,612 ล้านบาท โครงการในพระราชดำริ 13,538 ล้านบาท และส่วนอื่นๆ อีก 2,799 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในส่วนของโครงการในพระราชดำรินั้น บางโครงการไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในช่วงเวลาปัจจุบัน เช่น โครงการพระราชดำริห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ที่ใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีการก่อสร้างมาแล้วกว่า 10 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังส่งหนังสือไปถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7 หมื่นแห่ง ให้จัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชินี ในวันที่ 3 มิ.ย. หากแต่ละแห่งใช้เงินจัดงานเพียงที่ละ 1 หมื่นบาท เท่ากับว่า จะต้องใช้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท ในการจัดงาน รัฐบาลไม่ควรจัดทำโครงการแบบเหวี่ยงแห ให้เป็นเบี้ยแตกเช่นนี้...

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ กรณี “ปวิน” โดน “เด็กตลาดหลวง” โจมตีมากับตัวเอง จะได้รู้เสียบ้างว่า คนพวกนี้ ไม่สนใจรายละเอียด และตีความเข้าข้างตัวเอง ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสิน และอะไรก็ตามที่เขารู้สึกเป็นเจ้าของ รักและหวงแหน คนอื่นพูดอะไรผิดหมด

นี่คือ สิ่งที่ทำให้สังคมออนไลน์เอือมละอา นี่คือความเห็นต่าง ที่ไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่นใช่หรือไม่?

ส่วนควันหลงการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายฯปี 2566 แม้ว่า รัฐบาลจะผ่านแบบฝ่ายค้านต้องไปฉะกันเอง แต่การอภิปรายบางเรื่อง ก็สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชนอย่างมากเหมือนกัน โดยเฉพาะที่หยิบยกมานั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องตัดสินใจว่า ส.ส.แบบไหนควรได้ไปต่อ หรือ พอแค่นี้!?


กำลังโหลดความคิดเห็น