xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” ยืนยันรัฐบาลมีแผนรองรับวิกฤตพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุพัฒนพงษ์” ยืนยันรัฐบาลมีแผนรองรับวิกฤตพลังงาน มั่นใจไทยสู้วิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” ได้ แม้จะยืดเยื้อ เผย นักธุรกิจชุดใหญ่จาก “ซาอุฯ-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ” เตรียมมาหาโอกาสลงทุนในไทย

วันที่ 31 พ.ค. 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพลังงาน ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 90 ซึ่งวิกฤตพลังงานเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง จึงต้องทราบว่ามาจากเหตุอะไร

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีมาตรการเพิ่มความยืดหยุ่นระยะสั้น อย่างเรื่องของไฟฟ้าที่มีการใช้แก๊สธรรมชาติในการผลิตหลัก เมื่อแก๊สมีราคาสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงถือว่ายังมีความจำเป็น รวมถึงจะต้องมีการเพิ่มพลังงานสะอาดเพื่อนำมาทดแทนด้วย ส่วนมาตรการประคับประคองอัตราเงินเฟ้อ ที่เพิ่งผ่านปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด ซึ่งเศรษฐกิจก็กำลังจะฟื้น การท่องเที่ยวก็กำลังจะฟื้น และจากวันที่เริ่มเปิดประเทศ จนถึงวันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศแล้ว 1-2 ล้านคน และรัฐบาลยังได้ประคับประคองในเรื่องของราคาน้ำมันและแก๊สแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการตรึงราคา

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังต้องรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งวันนี้มีปริมาณสำรองถึง 2 เดือนกว่า และพยายามจะทำให้เพิ่มสูงขึ้นเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ เรื่องของราคา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนมาตรการเสริมสภาพคล่อง ก็ได้มีการลดเงินสมทบให้กับลูกจ้างแรงงานในระบบ และโครงการคนละครึ่งเฟส 4 เพื่อดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากความเดือดร้อน ทั้งนี้ ไทยยังรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางด้านการเงินการคลังได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ก่อนโควิดจนถึงวันนี้ ดูได้จากอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ยังอยู่ในอันดับเดิม และท้ายที่สุดก็ชี้ให้เห็นว่ามาตรการด้านพลังงานที่รัฐบาลได้ดูแลตั้งแต่ปี 63-65 ได้ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น จำนวน 206,903 ล้านบาท และเชื่อว่า จะสามารถรับมือกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่คาดว่าจะยืดเยื้อได้

“รัฐบาลยังมีแผนดึงดูดการลงทุนจากการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศมีความพร้อมและมีความสนใจที่จะนำคณะนักธุรกิจชุดใหญ่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อหาโอกาสในการลงทุน ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ และไตรมาส 1 ของปีหน้า” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น