xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.สถิตย์” ตั้งกระทู้ถามปมภาษีขายหลักทรัพย์ คลังแจงหารายได้เพิ่มชดเชยช่วงโควิด ศึกษาแล้วกระทบระยะสั้นไม่มีผลระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สถิตย์” ตั้งกระทู้ถามจัดเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์ รมว.คลัง แจงผลกระทบโควิดต้องหารายได้เพิ่มขยายฐานภาษี ตลาดหลักทรัพย์เติบโตขึ้นมาก แจง 3 แนวทางเก็บภาษี มอบสรรพากรศึกษาผลกระทบ ชี้ ส่งผลระยะสั้นไม่มีผลระยะยาว พร้อมรับฟังความเห็น

วันนี้ (30 พ.ค.) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งกระทู้ถาม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง การจัดเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) โดยมีประเด็นสำคัญตั้งตำถามว่ากระทรวงการคลังมีนโยบายในการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์อย่างไร

ด้าน นายอาคม ได้ชี้แจงตอบว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลงเมื่อคิดเปอร์เซ็นต์การจัดเก็บต่อจีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) จึงจำเป็นต้องหามาตรการในการเพิ่มรายได้โดยการขยายฐานภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี นโยบายการจัดเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์อยู่ในหนึ่งนโยบายการขยายฐานภาษี ในปี2535 มีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ (Special Business Tax) จากการขายหลักทรัพย์ ในอัตราร้อยละ 0.1 บวกกับภาษีท้องถิ่น รวมเป็น 0.11 แต่มีการยกเว้นให้ตั้งแต่เริ่มการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในปี 2535 ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์เติบโต 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน กระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้กรมสรรพากรศึกษาความเหมาะสมของการยกเว้นการเรียกเก็บภาษี โดยถือว่าเป็นนโยบายในการขยายฐานภาษี

ส่วนคำถามว่า หากกระทรวงการคลังมีนโยบายในการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ กระทรวงมีแนวทางในการจัดเก็บอย่างไร นายอาคมชี้แจงว่า ประการที่ 1 ฐานภาษีในการกำหนดเก็บตามมาตรา 91/5 ตามประมวลรัษฎากร คือ เก็บภาษีเฉพาะการขายขาเดียว ประการที่ 2ตามมาตรา 91/6 แห่งประมวลรัษฎากร จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 ของรายรับ หรือร้อยละ 0.11 เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น ประการที่ 3ปกติการซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนในตลาดซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ (Broker) ดังนั้นโบรกเกอร์จะหักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โบรกเกอร์จะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นรายเดือน โดยยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร

และเมื่อถามว่า ได้มีการวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ว่าจะส่งผลต่อการลงทุนและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ นายอาคม ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังมอบหมายกรมสรรพากรศึกษาผลกระทบ ทั้งด้านต้นทุนการทำธุรกรรม เมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฮ่องกง ส่วนการศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์นั้นจะส่งผลกระทบในระยะสั้นโดยยกตัวอย่างจากการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส และ อิตาลี ที่มีการเก็บภาษีในช่วงปี 2555 และ 2556 ไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว ปัจจุบันกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ต้องดูหลายปัจจัยประกอบ โดยเปิดการรับฟังข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม ต้องใช้ระยะเวลาเพื่อเป็นการทำความเข้าใจและให้เวลานักลงทุนในการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้สถานการณ์ในเรื่องของตลาดหุ้นเราไม่ค่อยดี เพราะว่าได้รับผลกระทบจากเรื่องของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ยูเครนรัสเซีย และเรื่องของตลาดการเงิน การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางของสหรัฐฯ มีผลกระทบต่อตลาดเงินกับตลาดทุนของเราเช่นกัน คาดว่า น่าจะช่วงสั้นๆ แต่คิดว่าสำหรับในเรื่องการรับฟังน่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน ซึ่งอันนี้จะแตกต่างไปจากเรื่องของนโยบายการจัดเก็บภาษีในเรื่องอื่นๆ ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นในกรณีที่เป็นนโยบายภาษี แต่ว่าในกรณีนี้ถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดและมีผลกระทบต่อผู้ลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น