xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เชื่อมั่นผลการเยือนญี่ปุ่นส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเชื่อมั่น ฟื้นฟู ขยายการลงทุนในเขตอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เชื่อมั่นผลการเยือนญี่ปุ่นส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเชื่อมั่น ฟื้นฟู ขยายการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาเศรษฐกิจ ยืดหยุ่น ยั่งยืน

วันนี้ (28 พ.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ย้ำความสำเร็จภายหลังการเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia หรือ Nikkei Forum ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ ได้มีโอกาสหารือร่วมกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายมาเอดะ ทาดาชิ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ นายโทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น โดยการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์และเน้นย้ำความร่วมมือของไทยกับทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยในหลายประเด็น ดังนี้

- การเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายและความชะงักงันในภูมิภาคและในโลก เอเชียควรจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว สนับสนุนความยั่งยืน รวมทั้งสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของทุกสรรพสิ่งและการก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยเสนอประเด็น 3 ประเด็นหลัก ที่ไทยเชื่อว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียจะร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย ได้แก่ 1. การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2. การสนับสนุนระบบพหุภาคี และ 3. การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่กับความยั่งยืน ซึ่งแนวคิด BCG ของไทยจะมีส่วนช่วยส่งเสริมแนวทางนี้ได้

- การพบหารือกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่ได้หารือกันไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1. การยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership)” โดยตั้งเป้าหมายที่จะประกาศเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ร่วมกันครั้งต่อไปในห้วงการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปก 2. เห็นพ้องร่วมกันที่จะให้ไทยและญี่ปุ่นประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ครั้งที่ 6 ที่กรุงโตเกียว รวมทั้งได้หารือด้านการขยายการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่แสดงความสนใจและเริ่มเข้ามาลงทุนในไทย เช่น ในสาขายานยานต์ไฟฟ้า (EV) และเคมีภัณฑ์ สาขาเศรษฐกิจ BCG การแพทย์ ดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ
3. นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่เลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น จึงได้เชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นด้วย

4. ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและความร่วมมือในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ และการเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะหารือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในกรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ในการดำเนินสาขาความร่วมมือต่างๆ เพื่อประโยชน์กับไทย

- การพบหารือกับ นายมาเอดะ ทาดาชิ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) นายกรัฐมนตรีหวังจะร่วมมือกับญี่ปุ่นเรื่องการกระจายรายได้และการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ JBIC ได้แจ้งเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นพันธมิตรที่สำคัญของกันและกัน ไทยหวังว่า ญี่ปุ่นจะสนับสนุนในสาขาความร่วมมือต่างๆ โดยความเข้มแข็งของไทยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน จะสร้างความเติบโตและเข้มแข็งในอาเซียนได้

- การพบหารือกับ นายโทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และ นายซูซูกิ โยชิฮิสะ ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ของเคดันเรน นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า ไทยจะดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในไทย และผลักดันเชิญชวนให้เอกชนญี่ปุ่นทั้งบริษัทขนาดใหญ่ SMEs และ Startups มาดำเนินธุรกิจในไทยและใช้ไทยให้เป็นประโยชน์ในฐานะศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาค และภูมิภาคต่อไป โดยเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยาและเครื่องมือแพทย์ Data 5G และกลุ่ม BCG โดยพิจารณาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งประธานเคดันเรนย้ำถึงความสำคัญของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตของเอกชนญี่ปุ่นในหลากหลายอุตสาหกรรม และในปีนี้ คณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ของเคดันเรน มีแผนที่จะเยือนไทยเพื่อฟื้นฟูกลไกการประชุมระหว่างเคดันเรนกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ของไทยต่อไป

- การศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation City นายกรัฐมนตรีและคณะได้เรียนรู้การบริหารจัดการโครงการเมืองอัจฉริยะตามนโยบายแห่งชาติของญี่ปุ่น โดย Hanedan Innovation City เป็นแหล่งรวบรวมศูนย์วิจัยและการทดลองเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีทางการแพทย์ สถานีไฮโดรเจน และแหล่งรวมของร้านค้า โรงแรม สำนักงาน และศูนย์จัดการประชุมที่มีความทันสมัยและลงตัว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำตัวอย่างความสำเร็จนี้ไปใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

“นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ในทุกการเดินทางของนายกรัฐมนตรีคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในครั้งนี้เช่นเดียวกัน ไทยได้สร้างความเชื่อมั่น และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในทุกมิติที่มีศักยภาพร่วมกัน ทั้งระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อจะต่อยอดฟื้นฟู พัฒนาฐานการค้าการลงทุนระหว่างกัน และมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ และสังคมระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้งส่งผลสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมถึงอนุภูมิภาค และภูมิภาค” นายธนกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น