“ยุทธพงศ์” ตั้งกระทู้สด จี้ “สันติ” แจง ปมท่อส่งน้ำอีอีซี บี้ “ประยุทธ์” ปลดพ้นเก้าอี้ รมต. เจ้าตัวแจงยิบ ยันอีสวอเตอร์ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ข้องใจรัฐได้ค่าตอบแทนแค่ 500 ล้าน ยันไม่สนใจที่ตั้งบริษัท หน้าตาดีโกงเยอะแยะ ตอกกลับเป็นผู้แทนต้องซื่อสัตย์ อย่าแถไปเรื่อย
วันนี้ (26 พ.ค.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กระทู้สดถาม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เรื่องความไม่โปร่งใสโครงการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ ที่มีความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกบริษัทที่เข้ามาบริหารจัดการระบบส่งน้ำ โดยเชิญเฉพาะบางบริษัทมาร่วมประมูล ไม่เชิญบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิ บริษัท ช.การช่าง บริษัท อิตาเลียนไทย บริษัท ซิโน-ไทย อีกทั้งการประมูลครั้งแรกที่บริษัท อีสวอเตอร์ ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด แต่กลับถูกยกเลิกประมูล และมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ และคณะกรรมการคัดเลือกชุดใหม่ในการประมูลรอบสอง ทำให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะประมูลรอบใหม่ ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงทีโออาร์และคณะกรรมการคัดเลือก เรื่องนี้ต้องนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ไม่แก้ไขปัญหา เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า กรมธนารักษ์ไม่มีประสบการณ์บริหารจัดการท่อส่งน้ำ จึงจ้าง ม.เกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อออกแบบและสำรวจระบบส่งน้ำในทุกด้าน ได้รับคำแนะนำจาก ม.เกษตรศาสตร์ ว่า ให้เชิญบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในภาคตะวันออกมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการวิเคราะห์ กระบวนการทุกขั้นตอนมีความรัดกุม รอบคอบ และไม่ให้ใช้วิธีเปิดประมูลทั่วไป ให้ใช้วิธีคัดเลือก เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบส่งน้ำ ซึ่ง 5 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าประมูล เป็นบริษัทใหญ่ ทั้งบริษัท อมตะ บริษัท อีสวอเตอร์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง และบริษัท วิค จำกัด (มหาชน)
ส่วนที่บริษัท อีสวอเตอร์ ไม่ได้รับการประมูลทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจนั้น เดิมปี 2535 บริษัท อีสวอเตอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจ มีการประปาภูมิภาค (กปภ.) ถือหุ้น100 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนั้น มีการเปลี่ยนแปลงให้บุคคลอื่นมาถือหุ้นได้ ทำให้ กปภ.ถือหุ้นแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ และอีก 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนทั่วไป ดังนั้น ขณะนี้บริษัท อีสวอเตอร์ จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นบริษัทเอกชน ส่วนการยกเลิกประมูลครั้งแรก เนื่องจากทีโออาร์ไม่สมบูรณ์ ไม่มีความชัดเจนเรื่องปริมาณน้ำ ทำให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูลใช้ปริมาณน้ำต่างกัน จำเป็นต้องประมูลและกำหนดทีโออาร์ใหม่ เพื่อกำหนดปริมาณน้ำให้ชัดเจน โดยให้สิทธิบริษัทเดิมเข้าแข่งขัน สงสัยว่า อีสวอเตอร์ รู้ว่าเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลรอบแรกได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่มีการเปิดซองประกวดราคา เรื่องนี้จะต้องสอบคณะกรรมการคัดเลือกชุดแรกด้วย
นายสันติ กล่าวว่า การจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่อีสวอเตอร์เป็นเจ้าของสัมปทานให้ค่าตอบแทนกรมธนารักษ์ ปีละ 500 กว่าล้านบาทเท่านั้น แต่มาการประมูลรอบล่าสุด ในรอบแรกอีสวอเตอร์ให้ค่าตอบแทนรัฐ 3,000 ล้านบาท และการประมูลรอบสอง อีสวอเตอร์ เพิ่มค่าตอบแทนให้รัฐเป็น 24,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท วงษ์สยามฯ ให้ค่าตอบแทน 25,000 ล้านบาท ดูแล้วน่าตกใจที่การบริหารจัดการน้ำมีมูลค่านับหมื่นล้าน แต่ทำไมที่ผ่านมารัฐได้ค่าตอบแทนแค่ 500 ล้านบาทต่อปี เงินเป็นหมื่นล้านหายไปไหน จะต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ให้ชี้แจงว่า รายได้รัฐหายไปไหนช่วงที่ผ่านมา
“เรื่องความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ระบุบริษัท อีสวอเตอร์ มีสินทรัพย์ 11,069 ล้านบาท ขณะที่บริษัท วงษ์สยามฯ มีสินทรัพย์เพียง 1,247 ล้านบาทนั้น ไม่สนใจเรื่องที่ตั้งหรือหน้าตาบริษัท เพราะบริษัทหน้าตาดี แต่โกงมีเยอะแยะ ขอให้เปลี่ยนความคิด จะดูแต่ภายนอกไม่ได้ การบอกว่าจะอภิปรายไม่ไว้ใจนายกฯนั้น ที่ผ่านมา นายกฯเป็นห่วงเรื่องนี้ เรียกไปสอบถาม และได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบแล้ว แต่ผลประโยชน์ที่หายไปในช่วงทีผ่านมา ต้องมีการตรวจสอบ ไม่อยากให้แถไปเรื่อยๆ เป็นผู้แทนต้องซื่อสัตย์กับประชาชน” นายสันติ กล่าว