“มงคลกิตติ์” ผนึกกำลัง กลุ่ม 16 เตรียมชงร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ หวังยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม ช่วยคลี่คลาย “คดีแตงโม” ตั้ง “กองทุนประกันตัว-สำนักทนายรัฐ” ว่าความให้ฟรี
วันนี้ (25 พ.ค.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ แถลงว่า สืบเนื่องจากคดีของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีรพงษ์ หรือ แตงโม นักแสดงชื่อดังผลัดตกเรือเสียชีวิต ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้สำนักกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คาดว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน โดยเกี่ยวข้องกับคดีอาญาและคดีทั่วไป คือ 1) ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สืบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... ซึ่งเดิมทีรัฐบาลได้ดำเนินการบางส่วนไปแล้วแต่ติดอยู่ที่ไม่ยอมนำเข้าสู่สภา ทำให้ตนและส.ส.กลุ่ม 16 ร่วมกันลงชื่อเสนอ โดยมีหลักสำคัญ คือ เนื่องจาก พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 ที่ต่อมาได้รับการแก้ไขในปี พ.ศ. 2548 แต่ยังถือว่าเป็นกฎหมายล้าสมัย
นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า โดยหลักสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มี 6 ประเด็น เช่น ให้อัยการมามีส่วนในการสืบสวนสอบสวน ส่วนสถาบันนิติเวชวิทยา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ให้ไปอยู่กำกับของกระทรวงสาธารณสุข การเปิดรับหลักฐานจากภาคเอกชน และโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้สามีหรือภรรยาที่ไม่จดทะเบียนสมรส แต่อยู่กินฉันสามีภรรยา ที่รับทราบโดยทั่วไป สามารถเป็นผู้เสียหายได้ เช่น กรณีเบิร์ด กับแตงโม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล อีกส่วนที่สำคัญคือ กรณีที่คนจนติดคุก แต่คนรวยที่มีเส้นสายและพรรคพวกรอดอยู่ตลอดเวลา สืบเนื่องจากกรณีที่พนักงานสอบสวนมีคดีในมือจำนวนมาก ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ที่คนจนมาสู้กับนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงไม่ได้
นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า อีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานทนายรัฐ ที่ใช้เกาหลีใต้โมเดล โดยให้ทนายความมาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ว่าความให้โจทก์และจำเลยในทุกคดี โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ใช้เงินประมาณปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น เพราะประชาชนคนไทยประมาณ 40-50 ล้านคน มีฐานะยากจน ทั้งยังเสนอให้ตั้งกองทุนประกันตัว โดยไม่ได้จำกัดวงเงิน เพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และไม่ให้ใครต้องติดคุกก่อน เว้นแต่ศาลเห็นว่าจะหลบหนีแล้วจำเป็นต้องจำคุก ถ้ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ทำเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้น่าจะนำมาใช้ทันต่อกรณีของคดีแตงโม เพื่อให้เกิดความยุติธรรม รวมถึงถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม