ฝ่ายกฎหมายมหาดไทย โยน “กรมการปกครอง” ทบทวน หลัง “เพจสื่อชื่อดัง” ยื่น กทม.ขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ ยกพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต อ้าง “อี-ไอ้” มีความหมายถึงเพศ ย่อมเป็นการใช้ชื่อมูลนิธิ ที่เป็นคำที่มีความหมายหยาบคาย ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้ชื่อมูลนิธิ
วันนี้ (22 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้พิจารณาข้อหารือการขอจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิอีจัน”
กรณี นายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร ได้ส่งเรื่องของ นางสาวสมปรารถนา นาวงษ์ ขอจดทะเบียน จัดตั้งมูลนิธิ อีจัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 399/119 ถนนเทพรักษ์ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน ทุนทรัพย์เริ่มแรกเปีนเงินสด จำนวน 200,000 บาท
ผู้แทนกรมการปกครอง ได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการบริหารเริ่มแรก มีจำนวน 10 คน เพื่อให้นายทะเบียนพิจารณา โดยได้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานเขตบางเขน เมื่อ 29 พ.ย. 2564 และสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รับคำขอ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาจากกรุงเทพมหานคร เมื่อ 4 ม.ค. 2565
กรมการปกครอง ตรวจสอบคำขอและเอกสารประกอบการขอจดทะเบียน จัดตั้งมูลนิธิอีจันแล้ว เห็นว่า คำขอและข้อบังคับถูกต้องตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ของมูลนิธิไม่ขัดต่อ กฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประซาซน หรือ ความมั่นคงของรัฐ
ส่วนกรณีที่ นางสาวสมปรารถนา นาวงษ์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ และ นางสาวทัศน์สุมา สมานมิตร ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ ถูกฟ้องเป็นจำเลย คดีหมายเลขดำ ที่ พ 2470/2562 และคดีหมายเลขแดง ที่ พ 2001/263 เรื่อง บริษัท ศาลแพ่งมีนบุรี พิพากษายกฟ้อง
“จึงถือว่ามีฐานะและความประพฤติเหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และสำหรับกรรมการอื่นมีฐานะและความประพฤติเหมาะสม ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ”
รวมทั้งเอกสารการขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิถูกต้อง ครบถ้วน และตรวจสอบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว พบว่า ชื่อมูลนิธิไม่ซํ้าซ้อนกับมูลนิธิอื่น
ขณะที่ สำนักกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า มูลนิธิได้ดำเนินการตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิซย์ มาตรา 114 และมาตรา 115 ปรากฏว่า คำขอ ชื่อของมูลนิธิ และข้อบังคับ ของมูลนิธิอีจัน ถูกต้องตามกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขหรือความมั่นคงของรัฐ
ประกอบกับผู้ที่จะเป็นกรรมการ ของมูลนิธิมีฐานะความประพฤติเหมาะสม รวมทั้งเอกสารการชออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิถูกต้อง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิฃย์ดังกล่าวข้างต้น
สำหรับชื่อมูลนิธิอีจัน คำว่า “อี” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นคำประกอบคำอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศหญิง ซึ่งไม่เป็นคำหยาบคาย
ขณะที่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านกิจการความมั่นคงภายใน มีบัญชาให้สำนักกฎหมาย สป. หารือคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นกรณีดังกล่าว เนื่องจากอาจมีปีญหาในประเด็นข้อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยรับฟังข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของผู้แทนกรมการปกครองแล้ว
เห็นว่า ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวง ว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิ การดำเนินกิจการ และการทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ. 2545 กำหนดว่า “มูลนิธิ ที่จะได้รับการจดทะเบียนจะต้องเป็นมูลนิธิที่มีการใช้ชื่อมูลนิธิตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อมูลนิธิ ต้องเป็นภาษาไทยที่ไม่มีความหมายหยาบคาย... ซึ่งเมื่อพิจารณาคำว่า “อี” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายว่า เป็นคำนามใข้ประกอบคำอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศหญิง
และยังหมายถึง คำที่ใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะต่ำกว่า หรือแสดงความดูหมิ่นเหยียดหยามได้ เช่นเดียวกับคำว่า “ไอ้” ซึ่งเป็นคำนามใช้ประกอบคำอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศชาย และยังหมายถึง คำที่ใช้ประกอบหน้าชื่อผู้ชายที่มีฐานะต่ำกว่า หรือแสดงความดูหมื่น
“ดังนั้น หากการขอจดทะเบียนมูลนิธิ โดยใช้ชื่อว่า “อีจัน” มีความหมายถึงเพศหญิง ย่อมเป็นการใช้ชื่อมูลนิธิที่เป็นคำที่มีความหมายหยาบคาย ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้ชื่อมูลนิธิ”
มติที่ประชุมให้กรมการปกครอง รับความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กลับไปพิจารณาทบทวนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป