xs
xsm
sm
md
lg

“เชาว์” จี้เข้มสื่อหิวเรตติ้งไม่สนผลกระทบ สังคายนาแวดวงสงฆ์ หวั่นกลายเป็นสังคมศาลเตี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายเชาว์” ชี้ บทเรียนสังคมกรณีหลวงปู่แสง บี้ กสทช. จัดการเข้มสื่อจ้องแต่เรตติ้งมากกว่าผลกระทบสังคม แนะเอกชนเลิกหนุนสื่อไร้จรรยาบรรณ เตือนผู้มีอำนาจเร่งสังคายนาแวดวงสงฆ์ สร้างกติกาเข้ม กำหนดกรอบ ห่วงประเทศจากสังคมเลือกข้าง กำลังพัฒนากลายเป็นสังคมศาลเตี้ย

วันนี้ (15 พ.ค.) นายเชว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ ข้อความ เรื่อง เราเรียนรู้อะไรจากกรณี “หลวงปู่แสง” มีเนื้อหาระบุว่า เพียงไม่กี่วันคดีพลิกจาก “หมอผีจับอลัชชี” กลายเป็น “หมอผีจัดฉาก” สำหรับ “หมอปลา” จากกรณีดีลนักข่าวส่งไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง พฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ปฏิบัติต่อสีกาของหลวงปู่แสง ว่า เป็นไปตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่

ผมจึงมี 4 มิติที่อยากชวนสังคมให้เรียนรู้ร่วมกันจากเรื่องนี้ คือ

1. มิติด้านข้อเท็จจริง ผมเห็นว่า อาการอาพาธของหลวงปู่แสง ส่งผลให้ท่านมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจริง เพราะจากในคลิป อากัปกิริยาของลูกศิษย์ที่เห็นหลวงปู่แสง ประพฤติไม่เหมาะสม ไม่ได้มีการแสดงความแปลกใจ ไม่ห้าม คนที่โบกพัดให้ ยังยิ้มด้วยซ้ำ จากคำแถลงของแพทย์ล่าสุดให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมที่เริ่มแตะเนื้อต้องตัวสีกา เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 เหตุใดปล่อยให้รับกิจนิมนต์กับญาติโยม นี่คือ ความเสื่อมของคนใกล้ชิด ทั้งฆราวาสและพระที่หากินกับชื่อเสียงของหลวงปู่แสง แม้ท่านอาพาธ ก็ยังแสวงหาประโยชน์จากท่าน ทั้งที่ท่านควรได้พัก ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น จนกลายเป็นต้นเหตุของปัญหา ที่คนใกล้ชิดหลวงปู่แสง ต้องแสดงความรับผิดชอบกับความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นด้วย

2. มิติด้านสื่อ ผมไม่รู้ว่าหมอปลาถูกใครสร้างขึ้นมาจนอยู่ในสปอตไลต์เหมือนทุกวันนี้ แต่ที่แน่ๆ คือ น่าจะเป็นฝีมือของสื่อค่ายใดค่ายหนึ่ง หรืออาจมากกว่าหนึ่งค่าย ถึงขนาดตอนนี้มีทีมข่าวตามหมอปลากันแล้ว ร่วมทำในสิ่งที่เกินขอบเขต ราวกับตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นศาลผู้ตัดสิน ทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ จะอ้างเจตนาดี เพราะหน่วยงานรับผิดชอบมันเสื่อมก็อ้างได้ แต่ต้องยอมรับความจริง ว่า สิ่งที่ขบวนการนี้ทำ มีเรื่องของเรตติ้ง และการสร้างประเด็นข่าวมาเกี่ยวข้องด้วย แต่คลิปที่ออกมาจะบอกว่าเป็นการจัดฉากเสียทีเดียวคงไม่ได้ เพราะไม่มีใครไปจับมือ หรือหลอกล่อให้หลวงปู่แสงทำเช่นนั้น ผมได้สอบถามสื่อมวลชนถึงรูปแบบการทำข่าวเชิงลึก ได้รับคำยืนยันว่า การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางครั้งนักข่าวอาจต้องปลอมตัว หรือแฝงตัวเข้าไปเพื่อหาข้อมูล แต่การใช้หลักฐานที่ได้ต้องแจงให้ชัดว่ามาจากการดำเนินการอย่างไร ไม่ใช่ทำตัวเป็นเหยื่อ กระทั่งถูกโลกออนไลน์จับโป๊ะได้ ขณะนี้มีสื่อ 5 ค่ายที่ออกมายอมรับว่านักข่าวของตัวเองมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ค่ายหนึ่งหนักหน่อย เพราะนักข่าวเป็นคนที่อยู่ในคลิป และมีพฤติกรรมหยาบคายระหว่างการสัมภาษณ์หลวงปู่แสง ต้นสังกัดไล่ออก อีกค่ายหนึ่งนักข่าวร่วมวางแผน ถูกพักงาน ส่วนที่เหลือไม่ได้ระบุร่วมวางแผนหรือไม่ แต่รับรู้ขบวนการนี้ ซึ่งทั้ง 5 ค่าย ยืนยันไม่รู้ ไม่เห็น นักข่าวกระทำโดยพลการ

ผมมีคำถามง่ายๆ สำหรับสื่อค่ายแรก กอง บก.เมื่อเห็นคลิปจำนักข่าวตัวเองไม่ได้หรือ หากจำได้แล้วปล่อยคลิปออกมา ก็เท่ากับยอมรับการกระทำของนักข่าวแล้ว จะปฏิเสธความรับผิดชอบ โยนทั้งหมดให้นักข่าวก็คงไม่แฟร์นัก อีกทั้งการเดินทางของนักข่าว ไม่ว่าจะไปไหน ล้วนต้องแจ้งกอง บก.ทั้งสิ้น ยิ่งไปต่างจังหวัด ก็ยิ่งต้องแจ้ง เพราะมีเรื่องเบี้ยเลี้ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับอีกสี่ค่าย แต่กลายเป็นว่าต้นสังกัดไม่รู้ ไม่เห็นทุกอย่าง

นอกจากนี้ ทั้ง 5 ค่ายนี้ยังเป็นผู้เปิดคลิปนี้ก่อนใครเพื่อน พูดกันแบบดิบๆ ก็คือ คลิปขายได้ เรื่องปังแน่ ถ้ากรณีนี้ไม่เกิดกระแสตีกลับ ขบวนการที่ทำอาจกลายเป็นฮีโร่ไปก็ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเกิดในกรณีใด สิ่งที่ทำล้วนไม่ถูกต้อง เพราะปกปิดข้อมูลที่สาธารณะควรรู้

3. มิติด้านการกำกับดูแลสื่อ ซึ่งเรื่องนี้ กสทช.ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับสื่อที่จ้องแต่เรตติ้ง มองข้ามจรรยาบรรณ และเพราะ กสทช.ขาดความเอาใจใส่ในประเด็นเหล่านี้ มุ่งแต่การหารายได้ผ่านการประมูล ทำให้นับวันความเสื่อมยิ่งเกิดมากขึ้น เพราะแข่งกันทำเรตติ้ง จนเกิดการเลี้ยงข่าว สร้างข่าว กระทั่งบางกรณีสร้างจำเลยฆาตกรรมกลายเป็นเซเลบในพริบตา ผมเสนอว่า กสทช.ควรต้องมีคณะกรรมการกลางตรวจสอบการนำเสนอของสื่อทุกช่อง รายงานผลในแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือนให้ชัดเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการนำเสนอ เนื้อหาของสื่อแต่ละช่อง ใครควรถูกตำหนิ และใครควรได้รับคำชื่นชม เพราะถ้ามีการตรวจสอบลักษณะนี้ ประชาชนก็จะเห็นปัญหามากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เสียค่าปรับจำนวนเล็กน้อย แต่พฤติกรรมไม่เคยเปลี่ยน ขณะเดียวกัน บริษัทห้างร้านทั้งหลาย ก็ควรตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม ไม่สนับสนุนสื่อที่ขาดรับความรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้น พฤติกรรมเรียกแขกสร้างเรตติ้งจะลามเป็นไฟลามทุ่ง เพราะสื่อก็ต้องอยู่รอดเหมือนกัน สุดท้ายเราจะไม่เหลือ หรือเหลือสื่อดีๆ น้อยมาก นี่เป็นวิกฤตที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนอย่างหมอปลา ไม่สามารถมีแสงในตัวเองได้ ถ้าไม่มีสื่อคอยส่องทางให้ และหมดจากหมอปลา ก็อาจเกิดกรณีอื่นๆ ขึ้นได้อีก ถ้ายังไม่เร่งถอดบทเรียนเพื่อแก้ไข

4. มิติด้านระบบ ความเสื่อมทรามของระบบ โดยเฉพาะการกำกับดูแลในแวดวงสงฆ์ เรียกว่า ทรุดหนัก สำนักพุทธฯ ขาดความน่าเชื่อถือ ไร้การทำงานเชิงรุก วงการพระเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ที่ไม่เคยได้รับการสังคายนา นี่คือ เรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องไปคิด กำหนดกฎหมายที่เคร่งครัดมากขึ้นสำหรับผู้ถือครองผ้าเหลือง ไม่ใช่ปล่อยให้วงการนี้ กลายเป็นแหล่งใหญ่ในการทำมาหากินจากศรัทธาของประชาชนจากคนนอกรีต

“ถ้ายังไม่เร่งถอดบทเรียนจากหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมไทยที่เป็นสังคมเลือกข้างอยู่แล้ว จะพัฒนาจนกลายเป็นสังคมศาลเตี้ย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝากความหวังไม่ได้ ถึงวันนั้นเมื่อไหร่ ตัวใครตัวมันครับ” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น