“หมอระวี” ผุดไอเดียเสนอวิธีหาร 500 แบบที่ 2 ใกล้เคียง รธน.60 มากที่สุด ชี้ต้องจบที่ศาลฯ ปัญหาเกิด เพราะทั้ง 3 วิธี ขัด รธน.ทั้งหมด
วันนี้ (9 พ.ค.) เวลา 10.10 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) …ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. พร้อมด้วย นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ร่วมกันแถลงข่าวในนามพรรคเล็ก ถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะต้องหาร 100 หรือหาร 500 ว่า วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการหาร 100 เป็นวิธีที่พรรคการเมืองใหญ่เป็นผู้เสนอ ก็คือการนำผลรวมคะแนนพรรค ของทุกพรรคทั่วประเทศ มาหารด้วย 100 เช่น 37 ล้าน ÷100 = 370,000 คือคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ส่วนวิธีที่พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กเสนอ คือ การคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการหาร 500 แบบที่ 1 คือการคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือการนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศไปหารด้วย 500 เช่น 37 ล้าน หารด้วย 500 ก็จะเท่ากับ 74,000 โดยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค ก คือ ผลรวมคะแนนพรรคของพรรค ก จากทุกเขต คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน 1,000,000÷74,000 = 13.5 ส.ส.ส่วนจำนวน ส.ส.บัญ ชีรายชื่อของพรรค ก ก็คือ จำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส.เขตพรรค ก ตัวอย่าง ส.ส.พึงมี (13.5)–ส.ส.เขต(7) = ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 6.5
“ใน 2 วิธีข้างต้นจะเห็นว่า การหารด้วย 100 เข้ามาตรา 91 เพียงมาตราเดียว มาตรา 93,94 รวมไปถึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ระบุถึง ส.ส.พึงมี,คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่วนการหารด้วย 500 วิธีที่ 1 จะไม่เข้ามาตรา 91 แต่เข้ากับมาตรา 93,94 ซึ่งทั้ง 2 วิธีถือว่ายังมีปัญหาทั้งคู่ การอ้างว่าหาร 100 ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกต้อง ทางพรรคเล็กจึงคิดวิธีการคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยการหาร 500 แบบที่ 2” นพ.ระวี กล่าว
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า แบบที่ 2 นี่คือ การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน ก็คือ ผลรวมคะแนนเขต + คะแนนพรรคของทุกพรรค หาร 500 ตัวอย่าง 37 ล้าน+37 ล้าน = 74 ล้าน = 148,000 จากนั้น นำคะแนนเขตทั้งหมดพรรค ก + คะแนนพรรคทั้งหมดพรรค ก คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ตัวอย่าง = 1,000,000+800,000 หารด้วย 148,000 = 1,800,000 ÷148,000 = 12.16 คน ส่วนวิธีหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส. เขต พรรค ก ตัวอย่าง = ส.ส.พึงมี (12.16 คน) – ส.ส.เขต (7) = ส.ส.บัญชี 5 คน ซึ่งวิธีนี่จะไม่เข้ากับมาตรา 91 นอกเหนือจากนั้นวิธีนี่เข้ากับมาตรา 93,94 รวมไปถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 60
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการพูดคุยกับ ส.ว.หรือไม่ นพ.ระวี กล่าวว่า ในกรรมาธิการก็ได้พูดคุยกันทั้งหมด มีการแลกเปลี่ยนกัน ตอนนี้เสียงของ ส.ว.แตกอออไป 2 ฝั่ง แม้กระทั่ง ส.ส.ของพรรคใหญ่ที่เสนอหาร 100 ก็ยกพรรคจะมาลงมติหาร 500 แต่ตนขอไม่เปิดเผยว่าเป็นพรรคใด
“สุดท้ายไม่ว่าวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นแบบไหนก็ไม่สามารถถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมด ผมจึงบอกว่าสุดท้ายจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป” นพ.ระวี กล่าว