xs
xsm
sm
md
lg

“โบว์ ณัฏฐา” ติงอย่าบิดเบือนโจมตี “ภูมิใจไทย” ปมร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์” ชี้ปัญหาอยู่ใน รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โบว์ ณัฏฐา” โพสต์อย่าบิดเบือนกล่าวหา “ภูมิใจไทย” กรณีร่วมรัฐบาล “บิ๊กตู่” ชี้การโจมตีทางการเมืองต้องเคร่งครัดกับข้อเท็จจริง ปัญหาอยู่ใน รธน. ระบุหัวหน้า ภท.ไม่เคยบอกว่าไม่เอา “ประยุทธ์” แค่บอกว่า ไม่ให้ ส.ว. 250 คน มาร่วมตัดสินใจเลือกนายกฯ

วันนี้ (7 พ.ค.) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา Bow Nuttaa Mahattana) ระบุว่า

“การโจมตีทางการเมือง ต้องเคร่งครัดกับข้อเท็จจริง”

มีเรื่องหนึ่งที่อยากเขียนถึงมานานแล้วในฐานะคนที่เคลื่อนไหวกดดันและเกาะติดสถานการณ์ในช่วงนั้น จนมั่นใจว่า ไม่ได้พลาดข้อเท็จจริงอะไรไป พอดีมีเคสคุณบุญจงเกิดขึ้น ประเด็นที่พูดกันว่า ภูมิใจไทยเคยประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกพูดถึงขึ้นมาอีก จึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเอาความจริงมาพูดกัน

ถ้าจำกันได้ โบว์ ณัฏฐา ในฐานะแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นหนึ่งคนที่เคลื่อนไหวเดินสายพบหัวหน้าพรรคเรียกร้องกับทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะภูมิใจไทยที่ถูกเราสื่อสารกดดันหนักมากในช่วงก่อนฟอร์มรัฐบาล (หนักแค่ไหนลองค้นหาข่าวเก่ามาอ่านดู) ว่าอย่าไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะจะเป็นการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร เราทำทุกอย่างเต็มที่ “ก่อนฟอร์มรัฐบาล”

ทุกพรรคก็รับฟัง แต่แน่นอนว่า การตัดสินใจทางการเมืองเป็นสิทธิของแต่ละพรรคตามรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองก็ควรจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เพราะนั่นเป็นเสมือนคำโฆษณาสินค้าก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ คำโฆษณาที่ไม่ตรงกับตัวสินค้าจะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อความไว้วางใจในแบรนด์

ภูมิใจไทยเคยประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่? ข้อเท็จจริง คือ “ไม่เคย”

สิ่งที่หัวหน้าพรรคเคยพูดไว้ก่อนการเลือกตั้ง คือ “ผมจะไม่ยอมให้คน 250 คน ที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเลือกนายกฯ ของพวกผม เป็นส่วนประกอบได้ แต่จะมาเป็นคนตัดสินใจไม่ได้” และ “ไม่ว่าเราได้รับการเลือกตั้งมาจำนวนเท่าใด สิ่งที่พรรคจะยึดถือคือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน พรรคไม่ต้องการให้เกิดปัญหารัฐบาลเสียงข้างน้อย เพียงเพื่อขอให้ได้ผู้นำประเทศก่อน เราจะเคารพกติกามารยาททางการเมือง ยืนยันพรรคจะไม่นำประเทศไทยเข้าสู่ความขัดแย้ง รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ต้องตั้งใจพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้า และผู้ที่ร่วมในรัฐบาลต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต นี่คือ จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยภายหลังการเลือกตั้ง”

นั่นคือ เหตุผลที่เราไม่เคยได้เห็นคลิปคำพูดของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่พูดว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะเขา “ไม่เคยพูด” ตรงข้ามกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำคลิปออกมาเผยแพร่ก่อนการเลือกตั้ง ประกาศชัดว่าจะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังเมื่อพรรคมีมติกลับคำพูดของหัวหน้าพรรคที่ให้ไว้กับประชาชน คุณอภิสิทธิ์ จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ส่วนพรรคจะได้รับผลทางการเมืองอย่างไรจากการกระทำในครั้งนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับผู้สนับสนุนเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าผิดหวังหรือไม่ โดยส่วนตัวสำหรับเราน่าผิดหวังแน่นอน เพราะความหวังของเราในตอนนั้น คือ นายกฯ ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร สั่งสมทรัพยากรและจัดการสร้างกติกาขึ้นใหม่ แถมมีอำนาจเต็มตาม ม.44 “ในขณะจัดการเลือกตั้ง” ไม่ควรจะสามารถสืบทอดอำนาจได้ต่อไป แต่เมื่อเขาทำสำเร็จแล้ว สำหรับเราคือการ “ขึ้นกระดานใหม่” หาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันต่อไปโดยใช้กลไกที่มี

เสียใจไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน แน่นอนว่า มาก อย่าลืมว่าเราได้รับคดีความและผลกระทบต่อชีวิตมากมายขนาดไหนจากการต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารในยุค คสช. แต่เคารพหรือไม่กับการตัดสินใจของพรรคการเมืองต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พวกเขาเองก็ไม่ได้ร่างมา ก็ยอมรับว่า ต้องเคารพ และด้วยเงื่อนไขที่ในตอนนั้นยังมีอีกด่านที่ทุกพรรคจะต้องเผชิญ คือ การร่วมโหวตของ 250 ส.ว. ก็ต้องยอมรับว่า เป็นบริบทที่พรรคทั้งหลายต้องตัดสินใจชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสในการเป็นรัฐบาลและได้ผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ กับความเสี่ยงที่ว่าทุกอย่างจะถูกคว่ำโดย ส.ว. และ คสช.อาจใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเงื่อนไขในการอยู่ต่อเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย (อย่าลืมว่าขณะนั้นอำนาจตาม ม.44 ของหัวหน้า คสช.ก็ยังอยู่) ซึ่งการประเมินในส่วนนี้เป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมืองเอง

นั่นคือ เหตุผลที่ทุกวันนี้เรายังเคลื่อนไหวผ่านกลไกตาม พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไข ม.272 “ตัดอำนาจ สว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ” ด้วยหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าและการฟอร์มรัฐบาลจะเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยปกติ ไม่มีเงื่อนไขให้ต้องกังวลว่าเสียง ส.ว.ที่เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของรัฐสภาจะมามีอิทธิพลในการตัดสินใจของพรรคการเมืองที่เป็นผู้เล่นภายใต้กติกาเดียวกัน

ที่เขียนมายาวก็เพื่อจะบอกว่า “ข้อเท็จจริง” เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริง ในการสื่อสารทางการเมือง นอกจากการให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง โดยไม่บิดเบือนจะเป็นสิ่งที่แฟร์แล้ว ก็ยังทำให้เราไม่หลงลืมปัญหาที่แท้จริงไปด้วย

จึงอยากชวนให้ทุกคนให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงกันให้มากในบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน เพื่อทางออกร่วมกันในอนาคต

“การโจมตีทางการเมือง...Posted by โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา - Nuttaa Mahattana on Friday, May 6, 2022



กำลังโหลดความคิดเห็น