เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่า เรื่องปัญหาจริยธรรมนั้นเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นเรื่องหลัก จากกรณีอื้อฉาวของอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นแรงกดดันไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ และโดยเฉพาะอย่างคณะผู้บริหารพรรคที่นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ โดยเวลานี้แรงกดดันดังกล่าวมาจากทั้งภายนอก และภายใน
แต่ที่น่าจับตาก็คือ แรงกดดันที่มาจากภายใน ที่อีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นความแตกแยก ขัดแย้งภายในที่เป็นมาอย่างยืดเยื้อ และยังไม่มีทีท่าจะจบลงไปง่ายๆ เพราะจากกรณีอื้อฉาวดังกล่าว ทำให้เห็นการแบ่งชัดเจน พร้อมจะฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามให้ตกเวทีกันไปเลย โดยเฉพาะสองกลุ่มหลักที่เป็น “กลุ่มอำนาจเก่า” และ “อำนาจใหม่” ภายในพรรคประชาธิปัตย์
ฝ่ายแรกก็ต้องการให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคได้คัมแบ็กอีกครั้ง ขณะที่อีกฝ่ายก็ยังยืนกรานไม่ยอมให้นายจุรินทร์ ลาออก ซึ่งรวมไปถึงเจ้าตัวเองด้วยที่อ้างว่าได้แสดงความรับผิดชอบตามที่ควรจะเป็นแล้ว พร้อมระบุว่า การอยู่ต่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่การหนีรับผิดชอบ อีกทั้งยังมีการเสนอให้ นายชวน หลีกภัย ในฐานะผู้อาวุโสที่ได้รับการเคารพจากทุกฝ่าย ให้เข้ามากอบกู้พรรค โดยรับเป็นหัวหน้าพรรคไปก่อน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแยกย่อยออกไปอีกหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มอดีต กปปส. ที่ผสมโรงเข้ามาพร้อมๆ กัน
นั่นเป็นความกดดันที่แฝงมาด้วยการเมืองภายในที่ยังขัดแย้งแตกแยกกันไม่เลิก ซึ่งหลายคนมองออกว่า นอกเหนือจากเรื่องมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ และต้องมีมาตรฐานสูงกว่าด้านกฎหมายก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ที่มองออกเช่นเดียวกันว่า ก็มีบางกลุ่มที่ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ดังกล่าวนี้มาเป็นแรงกระแทกให้ทีมบริหารพรรคที่นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พ้นไปให้ได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็ต้องบอกว่า แรงกดดันดังกล่าวเริ่มหยุดนิ่งกับที่ ไม่ร้อนแรงเหมือนกับในช่วงที่เกิดเหตุใหม่ๆ หลังจาก นายชวน หลีกภัย ได้ออกมาเบรกเกม แสดงท่าทียังหนุน นายจุรินทร์ ไปต่อ อ่านขาดว่าขืนทำตามเสียงเรียกร้องจากบางกลุ่ม รับรองว่า “พัง” กันทางบางแน่ แต่ก็แน่นอนว่า ความเสียหายเสื่อมศรัทธาต่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำดิ่งลงไปแล้ว ยากที่จะใช้เวลาเพียงสั้นๆ กอบกู้กลับมาได้ง่ายๆ จนหลายคนมองว่าต้องใช้เวลานานมากๆ กว่าจะกลับมาดังเดิม เพราะมองว่ายังมีอีกหลายคนที่จะทยอยไหลออกมาอีกในอนาคตอันใกล้
แต่อีกมุมหนึ่ง หากผ่านเรื่องปัญหาจริยธรรมไปชั่วคราวก่อน แล้วมาโฟกัสในเรื่องผลสะเทือนเพื่อให้เห็นภาพบางอย่างที่จะต้องเกิดขึ้น อาจเพื่ออธิบายถึง “เอฟเฟกต์” ที่ตามมา หากทำให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค ซึ่งนั่นทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบันต้องพ้นไปด้วย แม้ว่ามีคนในพรรคบางคนที่บอกว่า เป็นการแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำพรรค “ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรี” ในรัฐบาล ยังสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปได้
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันจะเป็นแบบนั้นได้จริงหรือ เพราะวันไหนก็ตามที่ นายจุรินทร์ พ้นจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขาจะ “ขาลอย” และไร้อำนาจในการต่อรองภายใน และยิ่งถูกกดดันหนักให้พ้นจากตำแหน่งในรัฐบาลอีกด้วย เพราะถือว่าขาดความชอบธรรมไปแล้ว อะไรประมาณนั้น
และนี่แหละถึงได้บอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่กรณีการลาออกจากหัวหน้าพรรคของนายจุรินทร์ จะสะเทือนถึงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะผลที่อาจตามมาต่อเนื่องกัน ก็คือ “ความไม่แน่นอน” ทั้งในเรื่องเสียงสนับสนุน รวมไปถึงหากมีการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหารพรรคชุดใหม่ ที่หากเป็นสายของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มันก็มีโอกาสที่จะถอนตัวจากรัฐบาลค่อนข้างแน่
นอกเหนือจากนี้ ยังได้เห็นคลื่นใต้น้ำที่มีการเคลื่อนไหวแบบลับๆ แต่รับรู้กันได้ไม่ยาก นั่นคือการกดดัน และล็อบบี้ให้กรรมการบริหารพรรคบางคน ลาออก หรือหากเป็นไปได้ ให้ลาออกจำนวนมาก หรือเกินครึ่ง เพื่อกดดันให้ นายจุรินทร์ ต้องลาออกในภายหลัง อย่างไรก็ดีล่าสุดอย่างที่บอก นาทีนี้สถานการณ์ภายในพรรคเริ่มนิ่งกว่าเดิม หลังจาก นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อาวุโสที่ทุกฝ่ายเกรงใจออกโรงเบรก แบบตัดบทตั้งแต่ต้นมือ พร้อมกับตำหนิพวกที่ออกมาเขย่า ทำนองว่า “ไม่ช่วยแล้วก็อย่ากระทืบให้พรรคจมดิน” อะไรประมาณนี้
ถ้าพิจารณาจากความ “เก๋าเกม” อาวุโสทางการเมือง ผ่านร้อนหนาวมาทุกสถานการณ์ ทำไมจะมองไม่ออกว่า นอกจากเกมอำนาจภายในพรรคประชาธิปัตย์ ยังต้องการให้มีผลสะเทือนไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรี ของทีมบริหารชุดนี้อีกด้วย
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้คนที่ต้องลุ้นไม่แพ้กัน ก็คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะหากยังลุกลามไม่หยุด มันก็ย่อมสะเทือนมาถึงรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะหากสามารถกดดัน บีบคั้นให้ นายจุรินทร์ ต้องลาออก ซึ่งแน่นอนว่าหากถึงวันนั้นจริง ก็คงไม่หยุดอยู่แค่ตำแหน่งในพรรคเท่านั้น แต่ต้องลามมาถึงตำแหน่งรัฐมนตรี ในโควตาของพรรคอย่างเลี่ยงไม่ได้
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ส่งสัญญาณชัดเจนตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาขึ้น โดย “ส่งกำลังใจ” ให้กับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค แต่โฟกัสไปที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ผ่านพ้นไปให้ได้โดยเร็ว เพื่อได้มีสมาธิเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าในช่วงเปิดสภาสมัยสามัญในกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
เพราะถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหลักพรรคหนึ่ง แม้ว่าหากพิจารณากันแบบเรียลไทม์แล้วถือว่าภายในพรรคดังกล่าวเริ่มนิ่งกว่าเดิมแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าหนทางข้างหน้าจะราบรื่น เพราะในภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ มันก็ยังมีความเสี่ยงรอบทิศทาง เกมเขย่าจากทั้งภายในและภายนอก ยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยหากสามารถปิดเกมเอาไว้ได้บางส่วน มันก็ยังดีกว่าทำให้ “รูรั่ว” ขยายจนทำให้เรือจมเร็วก่อนถึงเวลา !!