“อุตตม” เฮ กกต.มีมติยกคำร้องปมเป็นหัวหน้าพรรคส่ง “สิระ เจนจาคะ” ที่ขาดคุณสมบัติ ลงสมัครรับเลือกตั้งปี 62 เหตุได้อานิสงส์คำสั่ง หน.คสช.ที่ 13/2561 ที่ไม่ให้นำวิธีสรรหาผู้สมัครตาม กม.พรรค มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรก ส่งผลนำบทโทษมาเอาผิดไม่ได้
วันนี้ (21 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กกต.มีมติยกคำร้องกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้เอาผิด นายอุตตมะ สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฐานเจตนารับรองการส่งนายสิระ เจนจาคะ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 62
โดย กกต.เห็นว่า ในการสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 62 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ซึ่งข้อ 4 ให้มีการยกเลิกข้อความในมาตรา 144 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และใช้ข้อความใหม่ที่มีเนื้อหาไม่ให้นำมาตรา 47 ถึง มาตรา 56 ที่กำหนดเกี่ยวกับวิธีการทำไพรมารีโหวต การส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง การให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการส่งผู้สมัคร มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มีผลใช้บังคับ และได้กำหนดวิธีการสรรหา การส่งผู้สมัคร ของพรรคการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น การที่นายอุตตมะในฐานะหัวหน้าพรรคลงนามรับรองการส่งนายสิระซึ่งเป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาคดีฉ้อโกง ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่สามารถนำบทโทษ ตามมาตรา 117 ถึง มาตรา 120 พ.ร.ป.ว่าด้วยการพรรคการเมือง 2560 ที่กำหนด
โทษสูงสุดของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาและการส่งผู้สมัคร ไม่ถูกต้องครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี มาเอาผิดได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ใน กกต.ชุดที่ผ่านๆ มา หากพบว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง นอกจาก กกต.จะมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้สมัครฐานรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงสมัครแล้ว ยังมีมติให้สำนักงานฯแจ้งความดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือรับรองส่งผู้สมัคร
ฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งให้กระทำความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2554 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2550 ที่ได้วางบรรทัดฐานไว้
ซึ่งกรณี นายสิระ ก่อนหน้านี้ กกต.มีมติให้สำนักงานฯ.แจ้งความดำเนินคดีฐานรู้อยู่แล้วว่าตนมีลักษณะต้องห้ามไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงสมัคร แต่การพิจารณากรณี นายอุตตมะ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะนั้น ลงนามหนังสือรับรองส่งนายสิระลงสมัคร สำนักงานฯก็มีการเสนอแนวปฏิบัติของ กกต.ที่ผ่านมา ที่มีมติให้ดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคในฐานผู้สนับสนุนผู้สมัครกระทำความผิด รวมถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย แต่ กกต.ก็มีมติยกคำร้องด้วยเหตุผลดังกล่าว