สตง.ผ่างบ พอช. 9.4 พันล้าน ผ่าน 2 โครงการย่อย จาก 5 โครงการ ตามแผน 20 ปี พัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ยุครัฐบาลบิ๊กตู่ พบไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด “โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดบ้านมั่นคง-โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง” พบยกเลิกโครงการหลังอนุมัติแล้วรวม 38 โครงการ เฉพาะโครงการหลัง ไม่มีโครงการใดปิดโครงการได้ แถม “ล่าช้ามากที่สุด 4 ปี 10 เดือน”
วันนี้ (8 เม.ย.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน “โครงการผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย” ผ่านโครงการ เช่น โครงการบ้านมั่นคง ที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2563 มีการใช้งบประมาณประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป 5,233.22 ล้านบาท และเงินทุน พอช. ซึ่งเป็นการให้เงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย 4,213.56 ล้านบาท รวมวงเงินกว่า 9.4 พันลัานบาท ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
รวมถึงจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย (เมืองและชนบท) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท
ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดบ้านมั่นคง โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โครงการบ้านพอเพียงชนบท โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน และ อีก 1 โครงการย่อย นอกเหนือแผนแม่บทฯ 20 ปี ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีไฟไหม้ไล่รื้อ
สตง.ตรวจสอบตัวอย่างโครงการย่อย ประกอบด้วย “โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดบ้านมั่นคง” พบว่า มีการยกเลิกโครงการหลังจากได้รับการอนุมัติแล้วถึง 19 โครงการ และครัวเรือนเป้าหมาย 1,342 ครัวเรือน
ขณะที่ “โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง” มีการยกเลิก 19 โครงการ และครัวเรือนเป้าหมาย 2,602 ครัวเรือน ซึ่งโครงการนี้ ไม่มีโครงการใดที่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จหรือปิดโครงการได้
สตง. สรุปว่า หากพิจารณาข้อมูลจาก เกณฑ์ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานตาม “โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดบ้านมั่นคง” สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จหรือปิดโครงการได้เพียง 1,001 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.94 ของจำนวนครัวเรือนเป้าหมายทั้งหมดตามแผนแม่บทฯ 20 ปี
ส่วน “โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง” ไม่มีโครงการใดที่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ อาจกล่าวได้ว่า ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด และไม่บรรลุเป้าประสงค์ตามแผนแม่บทฯ 20 ปี
สตง. ยังพบความล่าช้าของ ทั้ง 2 โครงการนี้ แม้จะมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปีครึ่ง - 3 ปี ที่โครงการส่วนใหญ่ล่าช้ากว่ากรอบระยะเวลาที่กำหนดมากกว่า 1 ปีขึ้นไปถึง 158 โครงการ หรือ 15,192 ครัวเรือน ของจำนวนโครงการและครัวเรือนที่มีการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด และในจำนวนนี้พบว่า ล่าช้ามากที่สุด 4 ปี 10 เดือน
ทั้ง 2 โครงการส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยไม่มีโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ตลอดจนความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ 20 ปี รวมถึงเกิดการเสียโอกาสในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่กลุ่มเป้าหมายด้วย
สตง.สรุปได้ว่า สาเหตุสำคัญของประเด็นข้อตรวจพบข้างต้นเกิดจากการที่ พอช. ขาดฐานข้อมูลหรือศูนย์รวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงานที่เป็นระบบที่จะนำไปสู่การวางแผน ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว
เช่นเดียวกับปัญหาการพิจารณาสิทธิ และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ยังมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ทั้งองค์กร เช่น สหกรณ์หรือสหกรณ์เคหสถานกลุ่มออมทรัพย์ และขบวนองค์กรชุมชนตำบล ที่เป็นผู้บริหารโครงการและงบประมาณทั้งหมด เป็นต้น
ประเด็นปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ สตง. พบปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นภายในกลุ่ม ทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง กลุ่มออมทรัพย์บางแห่ง มีปัญหาเงินขาดบัญชี ปัญหาการทุจริตของประธานกลุ่มออมทรัพย์และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์
รวมไปถึงมีการเลียนแบบพฤติกรรมของกลุ่มออมทรัพย์ในการทุจริต ซึ่งมีถึง 343 องค์กรผู้เสนอโครงการ ที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มออมทรัพย์ หรือคิดเป็น ร้อยละ 74.24 ขององค์กรผู้เสนอโครงการทั้งหมด 462 แห่ง
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเอกสารขององค์กรผู้เสนอโครงการที่สุ่มตรวจสอบ 70 แห่ง พบว่า องค์กรผู้เสนอโครงการ “ไม่มีการจัดทำเอกสารงบประมาณที่มีการแยกหมวดงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และไม่สามารถจัดส่งเอกสารงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ สตง. ได้ ทั้งสิ้น 28 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ขององค์กรผู้เสนอโครงการที่สุ่มตรวจ”
ในจำนวนนี้เป็นองค์กรผู้เสนอโครงการประเภทกลุ่มออมทรัพย์สูงถึง 22 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 78.57 ขององค์กรผู้เสนอโครงการที่ไม่สามารถจัดส่งเอกสารงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ สตง. ได้.