xs
xsm
sm
md
lg

อนามัยห่วงสงกรานต์ชุมชนขอเล่นตามประเพณี ชี้ ระบาดต้องอยู่ระดับรับได้ กทม.ขอจัด 15 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมอนามัย ห่วงเล่นสงกรานต์ในหมู่บ้าน-ชุมชน ขอเล่นแบบประเพณีไทย “ริน รด พรม” งดสาดน้ำใส่หน้า คาดรวมกลุ่มคน-เคลื่อนไหวระบาด แต่ขออยู่ในระดับรองรับได้ ด้านกทม.ขออนุญาตจัดงาน 15 ราย

วันนี้ (8 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเล่นสงกรานต์ “ริน รด พรม” ว่า สำหรับกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กิจกรรมสรงน้ำพระร่วมรับประทานอาหาร หรือกิจกรรมรดน้ำดำหัวสามารถทำได้ เพียงแต่ควรเสริมแนวทางปฎิบัติที่ช่วยลดความเสี่ยง ควรจัดในพื้นที่โล่งจัดในเวลาที่น้อย และสวมหน้ากากอนามัยและลดการใกล้ชิด ส่วนหากพบว่าในครอบครัวมีกลุ่มเสี่ยงสูงก็ขอให้คนในครอบครัวงดกิจกรรม เช่น การเล่นน้ำในบ้าน โดยจะต้องมีการประเมินภายในครอบครัว เพราะสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หากละเลยในเรื่องนี้อาจจะได้รับเชื้อโดยคาดไม่ถึง ทั้งนี้ในบ้านเรือนประชาชนเราไม่ได้เข้าไปกำกับดูแล แต่ให้ประเมินกันเอง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในหน่วยงานมีการขออนุญาต เราไม่ห่วง แต่พื้นที่ที่อยู่ในหมู่บ้านหรืออยู่ในชุมชน จะมีคำถามเรื่องการเล่นน้ำ จึงต้องเน้นย้ำว่า เนื่องจากไม่มีคนเข้าไปควบคุมจำกัด ฉะนั้นจึงต้องขอความร่วมมือและให้คำแนะนำว่าควรเรียนแบบประเพณีไทยริน รด พรม และหลายกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การไปสาดคนอื่น โดยที่ไม่ยินยอม เล่นน้ำท้ายรถกระบะ หรือการใช้ปืนฉีดน้ำเรื่องแบบนี้ผิดกฎหมายหมด ย้ำว่า พื้นที่ในชุมชนถ้าจะจัดกิจกรรมสงกรานต์จะต้องแจ้งฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการควบคุมโรคในพื้นที่

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการตั้งถังน้ำเล่นหน้าบ้าน คำถาม คือสาดใคร เพราะว่าโดยปกติมีกฎหมาย หากไปสาดคนอื่นโดยที่ไม่ยินยอม ผิดกฏหมาย เพียงแต่ที่ผ่านมาเราทำในสิ่งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ แต่ในภาวะสถานการณ์โควิด-19 เราเข้มในสิ่งที่กฎหมายมีอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเราควบคุมไม่ได้หมด เพราะประชาชนอาจจะต้องการมีกิจกรรมเหล่านี้จึงจะต้องคงไว้ ซึ่งประเพณีวัฒนธรรม แต่หากจะทำกิจกรรมมากกว่านั้นก็ต้องขออนุญาต เพราะโควิดไม่ได้ติดทางน้ำแต่ติดจากคน แต่หากมีการควบคุม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่มักจะมีการย่อหย่อน จึงต้องมีการกำหนดเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น หากจะมีการสาดน้ำหลีกเลี่ยงสาดบริเวณใบหน้า

“เน้นย้ำว่า การเคลื่อนไหวและรวมกลุ่มคนจำนวนมากเป็นความเสี่ยง จะบอกว่าไม่มีการระบาดเพิ่มเติม ผมยืนยันยังไงก็ต้องมีการระบาด แต่จะต้องให้อยู่ในระดับที่เรารองรับได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการ กทม. กล่าวว่า ภาพรวมใน กทม.มีการขออนุญาตจัดงานเทศกาลสงกรานต์มาแล้ว 15 รายในหลายพื้นที่ ทั้งในส่วนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคประชาชนเอง ซึ่ง กทม.มีประกาศมาตรการสงกรานต์ในวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งหากมีจัดงานขนาดใหญ่เกิน 1,000 คน ก็ให้มีการขออนุญาตกับส่วนกลาง และขนาดเล็กต่ำกว่า 1,000 คนให้มีการยื่นขอจัดงานที่เขต ส่วนพื้นที่สาธารณะไม่อนุญาตให้จัดงาน โดยยังไม่มีการขออนุญาตปิดถนนเพื่อขอจัดงานสงกรานต์

ทั้งนี้ กทม.ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรมในครอบครัวทาง กทม. สามารถเล่นน้ำในครอบครัวตามประเพณีได้ แต่ขอความร่วมมือในการปฏิบัติ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่เกณฑ์ที่รับได้ และในขณะนี้ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยยังเพียงพอ แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนด้วย

นพ.สุนทร กล่าวต่อว่า ทาง กทม.ใช้แนวทางปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น การห้ามเล่นปาร์ตี้โฟม ห้ามเล่นในพื้นที่สาธารณะ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามแนวทางที่ใช้ร่วมกันทั้งประเทศ ส่วนหลังเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเดินทางกลับมากทม. ควรขออนุญาตที่ทำงานเพื่อ WFH สังเกตุอาการตัวเอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น